ประวัติ/ความเป็นมาของปลานิล 


ปลานิลจิตรลดา

         

          ปลานิล เป็นปลาที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในหมู่ประชาชนชาวไทย มีต้นกำเนิดมาจากพันธุ์ปลา Nile tilapia จำนวน 50 ตัว ซึ่งสมเด็จพระจักรพรรดิอากิ  ฮิโต เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศมกุฏราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลี้ยงไว้ในบ่อที่สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต จนแพร่ขยายพันธุ์เป็นจำนวนมาก

          ปลาชนิดนี้เจริญเติบโตดี เลี้ยงง่าย และเนื้อมีรสชาติดี เหมาะที่จะเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญของประชาชนทั่วไป จึงพระราชทานปลาที่เพาะเลี้ยงจากสวนจิตรลดาจำนวน 10,000 ตัว แก่กรมประมง เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2509 เพื่อขยายพันธุ์และแจกจ่ายแก่ประชาชนเพื่อนำไปเลี้ยงในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานชื่อปลาชนิดนี้ว่า “ปลานิล” ปัจจุบันปลานิลเป็นปลาที่นิยมบริโภคโดยทั่วไปในประเทศ และสามารถส่งออกนำรายได้เข้าประเทศมีมูลค่าถึงประมาณ 900 ล้านบาทต่อปี


ประวัติปลานิลในประเทศไทย

          เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2508 สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศมกุฏราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้น้อมเกล้าฯ ถวายปลาน้ำจืดในตระกูลทิลาเปีย (tilapia) จำนวน 50 ตัว แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในระยะแรกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำปลาดังกล่าวไปเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ บริเวณพระตำหนักสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ต่อจากนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายปลาลงเลี้ยงในบ่อดิน และต่อมาในเวลาประมาณ 5 เดือนเศษ ปรากฏว่าในบ่อที่เลี้ยงมีลูกปลาเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดบ่อดินเพิ่มขึ้นเป็น 6 บ่อ เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2508 ได้ทรงปล่อยปลาลงเลี้ยงในบ่อเหล่านั้นด้วยพระองค์เอง และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่กรมประมงทำการตรวจสอบการเจริญเติบโตของปลาทุกเดือน ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่า ปลาชนิดนี้เจริญเติบโตได้รวดเร็วมาก มีขนาดเฉลี่ยถึง 178.8 กรัม ในระยะเวลา 6 เดือน

         

          ในวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2509 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานลูกปลาดังกล่าว ขนาดความยาว 3–5 เซนติเมตร จำนวน 10,000 ตัว จากบ่อดินในบริเวณพระตำหนักสวนจิตรลดา แก่กรมประมงเพื่อนำไปขยายพันธุ์ ณ แผนกทดลองและเพาะเลี้ยงในบริเวณเกษตรกลางบางเขน จังหวัดพระนครและสถานีประมงต่างๆ 15 แห่ง ทั่วราชอาณาจักร เพื่อให้ดำเนินการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์พร้อมกัน และได้พระราชทานชื่อปลาชนิดนี้ว่า “ปลานิล”

          เมื่อปลานิลแพร่ขยายพันธุ์ออกไปได้มากเพียงพอแล้ว กรมประมงจึงได้แจกจ่ายพันธุ์ปลานิลให้แก่ราษฎรเพื่อนำไปเพาะเลี้ยงตามความต้องการ และกรมประมงได้กำหนดให้วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2510 ซึ่งเป็นวันที่ครบกำหนดระยะเวลา 1 ปี 5 เดือน นับแต่วันที่กรมประมงได้รับพระราชทานปลานิลมาเป็นวันแจก “ปลานิลพระราชทาน” ให้แก่ราษฎร โดยในระหว่างวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2510 ถึงเดือนกันยายน พ.ศ.2513 รวมระยะเวลาประมาณ 3 ปี กรมประมงได้แจกจ่ายพันธุ์ปลานิลไปเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 5,093,900 ตัว

          อนึ่ง หลังจากที่ได้พระราชทานปลานิลให้แก่กรมประมงเพื่อนำไปเพาะขยายพันธุ์แล้ว ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมประมงนำพันธุ์ปลานิลที่ทรงเพาะไว้ไปแจกจ่ายแก่ราษฎรอีกเป็นประจำทุกเดือน จนถึงเดือนตุลาคม พ.ศ.2512 รวมเป็นพันธุ์ปลาทั้งสิ้น 92,269 ตัว แม้กระนั้นก็ดี จำนวนพันธุ์ปลานิลที่ได้ยังไม่เพียงพอแก่ความต้องการของพสกนิกรที่ต้องการนำพันธุ์ปลานี้ไปเพาะเลี้ยง โดยเฉพาะที่แผนกทดลองและเพาะเลี้ยงในบริเวณเกษตรกลางบางเขน ได้มีราษฎรมาติดต่อขอรับพันธุ์ปลานิลเดือนละไม่ต่ำกว่า 100,000 ตัว ความทราบถึงใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดบ่อขนาดใหญ่ในสวนจิตรลดาเพื่มขึ้นอีก 1 บ่อ เพื่อช่วยเร่งผลิตพันธุ์ปลานิลให้เพียงพอแก่ความต้องการของพสกนิกรของพระองค์ต่อไป

          ต่อมาในปี พ.ศ.2527 ได้ทำการปรับปรุงบ่อให้มีขนาดใหญ่ขึ้นแต่จำนวนลดลงเหลือเพียง 7 บ่อ และได้ใช้ในการผลิตพันธุ์ปลานิล ซึ่งนับว่าเป็นปลานิลสายพันธุ์แท้พันธุ์หนึ่งซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกในนามว่า “ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา”


ปลานิลแดง

          นอกจากปลานิลสายพันธุ์ทั่วไปแล้ว ยังมีปลาที่มีลักษณะคล้ายปลานิลแต่มีสีแดง ซึ่งปัจจุบันนี้เกษตรกรโดยเฉพาะในภาคกลางและภาคเหนือได้ทำการเพาะเลี้ยงปลานิลควบคู่ไปกับปลานิลสีแดง ต้นกำเนิดปลานิลแดงของไทยนั้นได้มีการพบครั้งแรกในราวปี พ.ศ.2511 ณ จังหวัดอุบลราชธานี โดยนักวิชาการประมงของสถานีประมงจังหวัดอุบลราชธานีและเกษตรกรในจังหวัดนั้นได้ปลานิลแดงปะปนอยู่ในบ่อเลี้ยงปลานิล นักวิชาการประมงประจำสถานีฯ จึงได้ทำการคัดเลือกปลานิลที่มีสีแดงทั้งตัวแยกเพาะเลี้ยงไว้ต่างหากจากปลานิลพันธุ์ปกติ โดยในขณะนั้นยังไม่มีการศึกษาด้านพันธุกรรมของปลานิลชนิดนี้

          ต่อมาในปี พ.ศ.2525 กลุ่มวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สถาบันประมงจ้ำจืดแห่งชาติ ได้นำลูกปลานิลสีแดงขนาด 2–3 เซนติเมตร จำนวน 1,000 ตัว จากสถานีประมงจังหวัดอุบลราชธานีมาเลี้ยงไว้เพื่อทำการคัดพันธุ์และศึกษาวิจัยด้านพันธุกรรม ภายใต้โครงการ “พันธุกรรมปลา” ในปี พ.ศ.2527 กรมประมงได้ส่งตัวอย่างปลานิลแดงนี้ไปตรวจสอบพันธุ์ ณ มหาวิทยาลัยสเตอร์ริง สหราชอาณาจักร และมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ จากการศึกษาสายพันธุ์โดยการวิเคราะห์ในระดับโปรตีนที่ถูกควบคุมด้วยยีนบางชนิด สรุปได้ว่า ปลานิลแดงเป็นปลาลูกผสมระหว่างปลานิลกับปลาหมอเทศ ซึ่งมีความถึ่ของยีนที่ศึกษาในครั้งนั้นเป็นของปลานิล 78 เปอร์เซ็นต์ ปลาหมอเทศ 22 เปอร์เซ็นต์ และมีลักษณะของโครโมโซมใกล้เคียงกับปลาหมอเทศและปลานิล ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะภายนอกของปลานิลแดงที่ปรากฏว่าคล้ายคลึงกับปลานิลและปลาหมอเทศ คือ มีปากเฉียงขึ้นคล้ายปลาหมอเทศและลักษณะลำตัวคล้ายปลานิล ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามมกุฏราชกุมารี ได้ทรงพระราชทานชื่อปลาชนิดนี้ว่า “ปลานิลสีแดง” แต่มักจะเรียกกันว่า “ปลานิลแดง”

ชีววิทยาของปลานิล

          ปลานิล มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Oreochromis niloticus (Linn.) มีริมฝีปากบนและล่างเสมอกัน บริเวณแก้มมีเกล็ด 4 แถว ลำตัวมีสีเขียวปนน้ำตาลและมีลาดพาดขวาง 9–10 แถบ ครีบหลัง ครีบก้นและครีบหางมีจุดขาวและเส้นสีดำตัดขวาง ครีบหลังมีอันเดียวประกอบด้วยก้านครีบแข็ง 15–18 อัน และก้านครีบอ่อน 12–14 อัน ครีบก้นมีก้านครีบแข็ง 3 อัน และก้านครีบอ่อน 12–14 อัน บนแถบเส้นข้างลำตัวมีเกล็ด 33 เกล็ด และจากเส้นข้างลำตัวลงมาถึงแนวส่วนหน้าของครีบก้น 13 เกล็ด ลำตัวมีสีเขียวปนน้ำตาล ตรงกลางเกล็ดมีสีเข้ม ที่กระดูกแก้มมีจุดสีเข้มอยู่ 1 จุด ปลานิลมีนิสัยชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง มีความอดทนและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดี มีอุปนิสัยกินอาหารทั้งพืชและสัตว์ สามารถกินแพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ ซากอินทรีย์และอนินทรีย์ที่เน่าเปื่อย รวมทั้งจุลินทรีย์และพืชน้ำต่างๆ เป็นปลาที่กินอาหารในเวลากลางวันและอยุดกินอาหารในเวลากลางคืน กินอาหารได้ทั้งที่ผิวน้ำ กลางน้ำ และก้นบ่อ


ความแตกต่างระหว่างเพศและการผสมพันธุ์

          ตามปกติรูปร่างภายนอกของปลานิลเพศผู้และเพศเมียจะมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก แต่จะสังเกตลักษณะเพศได้โดยการดูติ่งเพศ (genital papillae) ที่บริเวณใกล้กับช่องทวาร โดยปลาเพศผู้จะมีติ่งเพศลักษณะเรียวยาวยื่นออกมา ปลาเพศเมียมีลักษณะติ่งเพศมีลักษณะค่อนข้างใหญ่และกลมมีรูช่วงกลางติ่ง ขนาดปลาที่จะแยกเพศได้ชัดเจนต้องเป็นปลาที่มีความยาวตั้งแต่ 10 เซนติเมตรขึ้นไป สำหรับปลาที่มีขนาดโตเต็มที่สามารถสังเกตเพศได้ด้วยการดูสีที่ลำตัว โดยสีบริเวณใต้คางและลำตัวของปลาเพศผู้จะมีสีเข้มกว่าปลาเพศเมีย เมื่อถึงช่วงผสมพันธุ์สีจะยิ่งเข้มยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ในปลาวัยเดียวกัน ปลานิลเพศผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าปลาเพศเมีย

ลักษณะติ่งเพศของปลานิลเพศผู้ ลักษณะติ่งเพศของปลานิลเพศเมีย

           

          ปลานิลสามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดปี โดยใช้ระยะเวลา 2–3 เดือนต่อครั้ง แต่ถ้าได้รับอาหารเพียงพอและเหมาะสม ในระยะเวลา 1 ปี จะสามารถผสมพันธุ์ได้ 5–6 ครั้ง ขนาดอายุและช่วงการสืบพันธุ์ของปลาแต่ละตัวจะแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อม และสภาพทางสรีรวิทยาของปลาเอง โดยพบว่าปลานิลจะเริ่มมีพัฒนาการของไข่และน้ำเชื้อเมื่อมีความยาวประมาณ 6.5 เซนติเมตร

          ในช่วงผสมพันธุ์วางไข่ ปลานิลเพศผู้จะแยกออกจากฝูงไปสร้างรัง โดยปลาจะเลือกบริเวณเชิงลาดหรือก้นบ่อที่มีระดับน้ำลึกระหว่าง 0.5–1.0 เมตร วิธีการสร้างรังนั้นปลาจะปักหัวลงลำตัวตั้งฉากกับพื้นดิน แล้วใช้ปากพร้อมกับเคลื่อนไหวลำตัวเขี่ยดินตะกอนออก จากนั้นจะอมดินตะกอนและงับเศษสิ่งของต่างๆ ออกไปทิ้งนอกรัง ทำเช่นนี้จนกว่าจะได้รังที่มีลักษณะค่อนข้างกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20–35 เซนติเมตร ลึกประมาณ 3–6 เซนติเมตร หลังจากสร้างรังเสร็จเรียบร้อยแล้ว พ่อปลาจะหวงอาณาเขตโดยจะไล่ปลาอื่นให้ออกจากบริเวณนั้น และแสดงพฤติกรรมเกี้ยวปลาเพศเมีย เมื่อเลือกปลาเพศเมียได้ถูกใจแล้ว จะแสดงอาการจับคู่กัน โดยใช้หางดีดและกัดกันเบาๆ และเริ่มการผสมพันธุ์วางไข่โดยปลาเพศผู้ใช้บริเวณหน้าผากดุนที่ใต้ท้องปลาเพศเมียเพื่อกระตุ้นให้วางไข่ ปลาจะวางไข่ครั้งละ 10–15 ฟอง ปริมาณไข่ที่วางรวมกันแต่ละครั้งมีประมาณ 50–600 ฟอง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของแม่ปลา เมื่อแม่ปลาวางไข่แต่ละครั้งพ่อปลาจะว่ายน้ำไปเหนือไข่พร้อมกับปล่อยน้ำเชื้อลงไปผสมกับไข่ จากนั้นแม่ปลาจะเก็บไข่ที่ได้รับการผสมแล้วไว้ในปาก โดยจะทำเช่นนี้จนกว่าการผสมพันธุ์แล้วเสร็จ ใช้เวลาประมาณ 1–2 ชั่วโมง แม่ปลาจะว่ายออกจากรังและพ่อปลาจะคอยหาโอกาสเลือกปลาเพศเมียตัวอื่นต่อไป

พฤติกรรมการผสมพันธุ์วางไข่ การฟักไข่และการเลี้ยงลูกของปลานิล

 

การฟักไข่และลูกปลาวัยอ่อน

พฤติกรรมการฟักไข่ในปากของแม่ปลานิลและลูกปลานิลวัยอ่อน

         

          แม่ปลานิลจะฟักไข่ในปากโดยขยับปากให้น้ำไหลเข้าออกในช่องปลาอยู่เสมอ เพื่อช่วยให้ไข่ที่อมไว้ได้รับน้ำสะอาดทั้งยังเป็นการป้องกันศัตรูที่จะมากินไข่ด้วยไข่ที่ปลานิลเพศเมียอมไว้ในปากจะมีพัฒนาการขึ้นเป็นลำดับ ไข่ปลานิลเป็นไข่ประเภทไข่จม มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.8–2.0 มิลลิเมตร ตัวอ่อนมีถุงไข่แดงขนาดใหญ่ ไข่จะฟักเป็นตัวภายในเวลา 4 วัน ในน้ำอุณหภูมิ 27–28 องศาเซลเซียส ไข่ปลานิลจะพัฒนาเป็นลูกปลาวัยอ่อน 5 ระยะ คือ

1. ระยะไม่มีตา (uneyed) ระยะนี้ไข่ยังคงเป็นสีเหลืองอ่อนตลอดทั้งฟอง ยังไม่มีพัฒนาการใดๆ

2. ระยะมีตา (eyed) ไข่ยังคงมีสีเหลือง และมีจุดดำรอบๆ ไข่

3. ระยะก่อนฟักเป็นตัว (pre–hatch) เป็นระยะที่ไข่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล สังเกตเห็นส่วนตาและหางชัดเจน

4. ระยะฟักเป็นตัวอ่อน (hatch fry หรือ yolk sac fry) เป็นระยะที่ลูกปลาฟักออกเป็นตัว แต่ยังมีถุงไข่แดงติดอยุ่

5. ระยะตัวอ่อนว่ายน้ำ (swim–up fry) เป็นระยะที่ถุงไข่แดงยุบและลูกปลาสามารถว่ายน้ำได้

พัฒนาการของไข่และตัวอ่อนปลานิล 5 ระยะ

          

          ไข่ปลานิลจะพัฒนาเป็นลูกปลาวัยอ่อนที่อาหารยังไม่ยุบ ภายใน 8 วัน ลูกปลานิลวัยอ่อนจะเกาะรวมกันเป็นกลุ่มโดยว่ายวนเวียนอยู่บริเวณหัวของแม่ปลา ลูกปลาจะว่ายเข้าไปหลบซ่อนอยู่ในช่องปากแม่ปลาเมื่อมีภัย เมื่อลูกปลาอายุครบ 13–14 วัน นับจากแม่ปลาวางไข่ ลูกปลานิลจะเริ่มกินอาหารจำพวกพืชและไรน้ำขนาดเล็ก และหลังจากมีอายุ 3 สัปดาห์ขึ้นไป ลูกปลาจะกระจายแตกฝูงไปหากินเลี้ยงตัวเองได้โดยลำพัง


การเพาะเลี้ยงปลานิลในประเทศไทย

          ปลานิลเป็นปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและเป็นปลาน้ำจืดที่มีผลผลิตเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย ประเทศไทยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ปลานิลเพียงร้อยละ 5 ของผลผลิตปลานิลทั้งหมด ฉะนั้น การเพาะเลี้ยงปลานิลในประเทศไทยยังมีโอกาสขยายตัวเพิ่มได้อีก เนื่องจากตลาดปลานิลทั่วโลกมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

          การเพาะเลี้ยงปลานิลประกอบด้วยการเพาะพันธุ์ การอนุบาลลูกปลา และการเลี้ยง การเพาะพันธุ์ปลานิลสามารถดำเนินการได้ทั้งในบ่อดิน บ่อซีเมนต์ และกระชัง พ่อแม่พันธุ์ที่ใช้ในการเพาะพันธุ์ ควรเป็นปลาที่สมบูรณ์ ไม่มีบาดแผล ปลอดโรค และมีขนาดไล่เลี่ยกันคือมีความยาวตั้งแต่ 15–25 เซนติเมตร น้ำหนักตั้งแต่ 150–200 กรัม จำนวนพ่อแม่ปลาที่ปล่อยลงเพาะพันธุ์ประมาณ 1–5 ตัวต่อตารางเมตร ควรปล่อยในอัตราส่วนเพศผู้ 1 ตัว ต่อเพศเมีย 2–5 ตัว

          การอนุบาลลูกปลานิลสามารถดำเนินการได้ทั้งในบ่อดิน บ่อซีเมนต์ และกระชังไนล่อนตาถี่ อัตราปล่อยลูกปลานิลเพื่ออนุบาล ควรปล่อยจำนวน 250–300 ตัวต่อตารางเมตร ในการอนุบาลนอกจากใช้ปุ๋ยเพื่อเพาะอาหารธรรมชาติแล้ว จำเป็นต้องให้อาหารสมทบประมาณ 10–20 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวด้วย

          การเลี้ยงปลานิลมีทั้งในรูปแบบการค้าและเลี้ยงไว้เพื่อบริโภคในครัวเรือน บ่อดินที่ใช้เลี้ยงปลาจะเพิ่มอาหารธรรมชาติโดยการใส่ปุ๋ยและให้อาหารสมทบชนิดต่างๆ ที่มีราคาถูกและหาได้ง่ายในปริมาณ 4 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักปลา การเลี้ยงปลานิลในบ่อดิน ควรกำจัดวัชพืชและพรรณไม้น้ำต่างๆ ออกไปจากบ่อให้หมด ถ้าเป็นบ่อเก่ามีเลนมาก จำเป็นต้องลอกเลนขึ้น ตกแต่งเชิงลาดและคันดินให้แน่น ควรกำจัดศัตรูปลานิลก่อนปล่อยลูกปลาลงเลี้ยง โดยทั่วไปจะปล่อยลูกปลานิลขนาด 2–3 เซนติเมตร ในอัตรา 1–3 ตัวต่อตารางเมตร หรือ 2,000–5,000 ตัวต่อไร่ คุณภาพน้ำที่เหมาะสมในการเพาะเลี้ยงปลานิล ควรมีค่าความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) อยู่ระหว่าง 6.5–8.5 ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำในช่วง 3–4 มิลลิกรัมต่อลิตร อุณหภูมิน้ำอยู่ในช่วง 19–28 องศาเซลเซียส ความเค็มไม่เกิน 10 ส่วนในพัน แอมโมเนียและไนไทรต์ไม่เกิน 0.02 มิลลิกรัมต่อลิตร ไฮโดรเจนซัลไฟด์หรือก๊าซไข่เน่าไม่เกิน 0.002 มิลลิกรัมต่อลิตร

การปรับปรุงพันธุ์ปลานิลในประเทศไทย

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงตระหนักถึงความสำคัญในด้านการอนุรักษ์และการปรับปรุงพันธุ์ปลา จึงทรงมีพระราชดำริให้พยายามรักษาพันธุ์แท้เอาไว้ เพราะสังเกตเห็นว่าปลานิลตามท้องตลาดกลายพันธุ์ไป มีขนาดเล็กลงและโตช้า พระราชดำริเหล่านี้ทางกรมประมงได้น้อมรับมาดำเนินการปรับปรุงพันธุ์ปลานิลโดยใช้พ่อแม่พันธุ์จากสวนจิตรลดาเป็นหลัก ในการควบคุมพันธุกรรมได้ดำเนินการคัดพันธุ์ปลานิลจิตรลดา แบบคัดเลือกภายในครอบครัว (with–in family selection) จำนวน 5 ชั่วอายุ ซึ่งสถาบันวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง ปรับปรุงพันธุ์ได้เมื่อ พ.ศ.2536 ต่อจากนั้นได้ดำเนินการทดสอบพันธุ์ ณ ศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืด ฟาร์มเกษตรกร ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เชียงราย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบุรี อุดรธานี และขอนแก่น ซึ่งสถาบันวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำพิจารณาให้เป็นพันธุ์แนะนำภายใต้ชื่อว่า “ปลานิลจิตรลดา 1” โดยมีลักษณะประจำพันธุ์คือให้ผลผลิตสูงกว่าปลานิลสายพันธุ์ปกติ 22 เปอร์เซ็นต์ และอัตรารอดสูงกว่าปลาพันธุ์ปกติ 10 เปอร์เซ็นต์

          กรมประมงตระหนักถึงความสำคัญของปลานิลต่อธุรกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศไทย จึงได้ให้การสนับสนุนงานวิจัยด้านการพัฒนาการเพาะเลี้ยง และปรับปรุงพันธุ์ปลามาอย่างต่อเนื่อง จนได้สายพันธุ์ปลานิลอีก 2 สายพันธุ์ คือ

          “ปลานิลจิตรลดา 2” เป็นปลานิลที่พัฒนาพันธุ์มาจากปลานิลสายพันธุ์อียิปต์ ภายใต้การร่วมงานระหว่างสถาบันวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ มหาวิทยาลัยเวลส์ (University of Wales) สหราชอาณาจักร และ มหาวิทยาลัยเซนทรัล ลูซอน สเตท (Central Luzon State University) สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ โดยการจัดการพันธุกรรมในพ่อพันธุ์ให้มีโครโมโซมเพศจากเดิมคือ “XY” ให้กลายเป็น “YY” ที่เรียกว่า “YY–male” หรือ “ซูเปอร์เมล (supermale)” ซึ่งเมื่อนำพ่อพันธุ์ดังกล่าวไปผสมพันธุ์กับแม่พันธุ์ปกติ จะได้ลูกปลานิลเพศผู้ล้วนที่มีโครโมโซมเพศเป็น “XY” เรียกลูกปลานิลเพศผู้เหล่านี้ว่า “Genetically Male Tilapia (GMT)” ซึ่งต่อมาได้กระจายพันธุ์ไปสู่ภาครัฐและเอกชนตั้งแต่ปี พ.ศ.2550

การผลิตปลานิลเพศผู้ล้วนจากปลานิลซุปเปอร์เมล หรือ YY-male

          

          “ปลานิลจิตรลดา 3” ในปี พ.ศ.2531 หน่วยงาน International Center for Living Aquatic Resource Management (ICLARM) ณ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ได้ดำเนินการพัฒนาพันธุ์ปลานิลให้มีความหลากหลายทางพันธุกรรม โดยการรวบรวมสายพันธุ์ปลานิลต่างๆ จำนวน 8 สายพันธุ์ ที่รวบรวมจาก 8 ประเทศ ได้แก่ ไทย (สายพันธุ์จิตรลดา) สิงคโปร์ ไต้หวัน อิสราเอล อียิปต์ กานา เซเนกัล และเคนยา โดยทำการผสมข้ามประชากรหรือสายพันธุ์ แล้วคัดเลือกปลาที่มีลักษณะที่ต้องการเพื่อใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์รุ่นต่อไป ปลานิลสายพันธุ์ดังกล่าวนี้มีชื่อเรียกว่า ปลานิล “GIFT” (Genetic Improvement of Farmed Tilapia) ต่อมาสถาบันวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง ได้นำปลานิล GIFT ชั่วอายุที่ 5 7 และ 9 เข้ามาทดสอบลักษณะในประเทศไทยระหว่างช่วงปี พ.ศ.2537–2539 โดยปรับปรุงลักษณะการเจริญเติบโตด้วยวิธีการคัดเลือกแบบหมู่ (mass selection) จำนวน 3 ชั่วอายุ และได้กระจายพันธุ์ไปสู่ภาครัฐและเอกชนตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 ปลานิลดังกล่าวนี้ต่อมาได้รู้จักกันในนามของ “ปลานิลจิตรลดา 3” ซึ่งมีลักษณะประจำพันธุ์คือ หัวเล็ก เนื้อมาก และโตเร็ว

การปรับปรุงพันธุ์ปลานิลจิตรลดา 3

 

ที่มา: ปลานิลจิตรลดา สายสัมพันธ์พระราชวงศ์ไทย-ญี่ปุ่น ISBN: 978-974-8232-55-3