การซื้อ-ขาย สินค้าบางชนิดบนแพลตฟอร์มออนไลน์


[2023-02-14] ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับติดต่อสำนักงานประมงจังหวัดพิจิตร.. [2023-02-01] ผลการปฏิบัติงาน.. [2023-01-16] การป้องกันและลดผลกระทบด้านประมง ในช่วงฤดูหนาวและแล้ง ปี 2565/66.. [2022-12-22] กรมประมงงดให้ งดรับ ของขวัญรวมถึงผลประโยชน์อื่นใดในเทศกาลต่างๆ เพื่อเส.. [2022-10-06] ปลาดัดแปลงพันธุกรรม GMOs.. [2022-09-15] พิธีปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเนื่องในวันประมงแห่งชาติ 21 กันยายน ประจำปีพุทธ.. [2022-08-18] พิธีปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำและปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาส มหาม.. [2022-07-22] พิธีปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเฉลิมพระเกียรติ และถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในโ.. [2022-07-06] Fisherman shop @Phichit จำหน่าย สินค้า.. [2022-06-29] การซื้อ-ขาย สินค้าบางชนิดบนแพลตฟอร์มออนไลน์.. อ่านทั้งหมด 

การซื้อ-ขาย สินค้าบางชนิดบนแพลตฟอร์มออนไลน์ 

 ข่าวประชาสัมพันธ์  หน่วยงาน  หน่วยงานส่วนภูมิภาค


                 

                 ปัจจุบันพบว่า ประเทศไทยมีการซื้อขายในรูปแบบ e-commerce หรือ ขายผ่านช่องทางออนไลน์เป็นจำนวนมาก เนื่องจากร้านค้าปลีกหรือโรงงานผู้ผลิตสามารถขายสินค้าให้กับผู้บริโภคได้โดยตรงผ่านช่องทางการขายออนไลน์ (e-marketplace) อาทิ บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) บริษัท ลาซาด้า จำกัด เป็นต้น จึงเป็นเหตุให้มีร้านค้าปลีกหรือโรงงานผู้ผลิตบางรายนำสินค้าประมงที่ผิดกฎหมายประมงและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น หม้อน็อคปลา ลอบพับได้หรือไอ้โง่ โพงพาง ปะการัง กัลปังหา หรือกระดองเต่า เป็นต้น มาขายผ่านช่องทางการขายออนไลน์บนทั้ง 2 แพลตฟอร์ม

                นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า การประกาศขายโฆษณาเครื่องมือทำการประมงบางชนิด ได้แก่ หม้อน็อคปลา โพงพาง ลอบพับได้หรือไอ้โง่ และการประกาศขายสัตว์คุ้มครอง หรือ ซากของสัตว์คุ้มครอง เช่น หินปะการัง ปะการัง กัลปังหา หรือเต่า เป็นต้น บนแพลตฟอร์มของบริษัท Shopee และบริษัท ลาซาด้า จำกัด ยังไม่มีคำแนะนำที่ถูกต้องตามกฎหมายให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งหากผู้บริโภครายใดไม่ทราบข้อมูลและซื้อสินค้าดังกล่าวไปใช้ในแหล่งน้ำสาธารณะ หรือมีไว้ในครอบครองสินค้าเหล่านั้น อาจส่งผลให้ผู้ซื้อสินค้าถูกจับ ถูกปรับ และถูกดำเนินคดีได้ และที่สำคัญคือกรณีดังกล่าวมีอัตราโทษค่อนข้างรุนแรง โดยข้อกฎหมายและบทกำหนดโทษ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายออนไลน์ในกรณีดังกล่าว มีดังนี้

               1. พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ปี 2560 : ได้กำหนดเครื่องมือทำการประมงที่สามารถค้าขายได้ แต่ห้ามใช้ทำการประมงในแหล่งน้ำสาธารณะหรือพื้นที่ส่วนบุคคลที่เชื่อมต่อกับแหล่งน้ำสาธารณะโดยเด็ดขาด เนื่องจากเครื่องมือดังกล่าวส่งผลต่อการทำลายพันธุ์สัตว์น้ำอย่างร้ายแรงจนถึงขั้นสูญพันธุ์ และยังสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการนำลูกพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจมาใช้ก่อนวัยอันควร ได้แก่ เครื่องมือน็อคปลา (หม้อน็อคปลา) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าลงไปในน้ำ ทำอันตรายกับสัตว์น้ำทุกชนิดโดยเฉพาะแม่พันธุ์สัตว์น้ำที่อยู่ในช่วงมีไข่และลูกพันธุ์สัตว์น้ำให้ตายหรือพิการ ซึ่งก่อทำให้เกิดการสูญเสีย และทำลายวงจรชีวิตสัตว์น้ำ โดยถือว่าเป็นการทำลายพันธ์สัตว์น้ำอย่างรุนแรง ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับ 2 แสน ถึง 1 ล้านบาท หรือ ปรับจำนวน 5 เท่าของมูลค่าสัตวน้ำที่ได้จากการทำประมงส่วน โพงพาง รั้วไซมาน ลี่ หรือเครื่องมือที่คล้ายคลึงกัน จัดเป็นเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพสูงในการจับสัตว์น้ำขนาดเล็ก โดยเฉพาะขนาดเล็กกว่าขนาดแรกเริ่มสืบพันธุ์ ซึ่งถือเป็นการตัดวงจรชีวิตของสัตว์น้ำทำให้สัตว์น้ำไม่สามารถเติบโตแพร่ขยายพันธุ์ได้อีก รวมทั้งก่อให้เกิดความสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการนำสัตว์มาใช้ก่อนวัยอันควร ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับตั้งแต่ 1 – 5 แสนบาท หรือ ปรับจำนวน 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมง นอกจากนี้ ยังมี ลอบพับหรือไอ้โง่ ซึ่งเครื่องมือประมงชนิดนี้ มีประสิทธิภาพสูง โดยสัตว์น้ำที่จับได้ ร้อยละ 80 – 100 มีขนาดต่ำกว่าขนาดแรกเริ่มสืบพันธุ์ ซึ่งถือเป็นการตัดวงจรชีวิตของสัตว์น้ำทำให้สัตว์น้ำไม่สามารถเติบโตแพร่ขยายพันธุ์ได้อีก รวมทั้งก่อให้เกิดความสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการนำสัตว์น้ำมาใช้ก่อนวัยอันควร ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับตั้งแต่ 1 หมื่น – 1 แสนบาท หรือ ปรับจำนวน 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมงเช่นกัน (เอกสารรายละเอียด)

               2. พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 : ได้กำหนดว่าสัตว์ป่าคุ้มครอง ซากสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์คุ้มครอง ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองหรือทำการค้าขาย หรือนำเข้าส่งออกโดยเด็ดขาด ภายใต้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มีรายละเอียด ดังนี้

                2.1 ห้ามค้า ห้ามครอบครองโดยเด็ดขาด หากจะมีการนำเข้า-ส่งออกต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมประมงเท่านั้น ได้แก่ ปะการังทุกชนิด กัลปังหาทุกชนิด ดอกไม้ทะเลทุกชนิด (ทั้งที่ยังมีชีวิต หรือเป็นซากของปะการัง) และหัวแหวนปลาโรนิน แหวนกระเบนท้องน้ำ กำไลกัลปังหา เขี้ยวพะยูน กระดองเต่า เต่า เปลือกหอยบางชนิด เช่น หอยมือเสือ หอยแตรสังข์ โดยผู้ที่ค้าสัตว์ป่าสงวนมีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 – 15 ปี หรือปรับตั้งแต่ 3 แสน ถึง 1.5 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ที่ค้าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้มีไว้ในครอบครองสัตว์ป่าสงวน และสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

               2.2 สัตว์น้ำประเภทค้า-ขาย-ส่งออกได้ แต่ต้องมีใบอนุญาตให้ค้าสัตว์ป่า และมีการออกหนังสือกำกับการจำหน่ายแก่ผู้ซื้อ ส่วนผู้ซื้อต้องขอรับใบอนุญาตตามกฎหมาย ได้แก่ กระเป๋าหนังจระเข้ และตะพาบน้ำ โดยผู้ที่ค้าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จึงรู้สึกเป็นห่วงผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์จะถูกดำเนินคดีจากความไม่เข้าใจในกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมากรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการจับกุมและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดที่ใช้เครื่องมือดังกล่าวเป็นจำนวนมากเนื่องจากสามารถเลือกซื้อจากร้านค้าออนไลน์ได้ง่าย และเพื่อให้สอดรับกับนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้เน้นย้ำให้กรมประมงดำเนินมาตรการอนุรักษ์เพื่อรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีความยั่งยืนและให้เกิดความสมดุลและเหมาะสมกับการประกอบอาชีพของพี่น้องชาวประมง และมอบนโยบายการปฏิบัติงานยึดหลัก 3 ป. คือ การป้องกัน การป้องปราม และการปราบปราม พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการสร้างการรับรู้ความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเป็นสำคัญด้วย ดังนั้น เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 กรมประมง จึงได้เชิญ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า บริษัท Shopee และ บริษัท LAZADA และบริษัทอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มาร่วมหารือเพื่อขอความร่วมมือจากแพลตฟอร์มเหล่านี้ ให้ช่วยประชาสัมพันธ์และแจ้งกับร้านค้าปลีกหรือโรงงานผู้ผลิตที่ขายสินค้าประมงต้องมีคำอธิบายหรือคำแนะนำให้กับผู้บริโภคเพื่อไม่ให้มีการกระทำความผิดกฎหมาย ป้องกันการถูกจับกุมดำเนินคดีจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้บริโภค อีกทั้งยังเป็นการป้องกันการทำลายพันธุ์สัตว์น้ำอย่างรุนแรงอีกด้วย ซึ่งทุกแฟลตฟอร์มตอบรับและพร้อมให้กับร่วมมือกับกรมประมง โดยจะเร่งดำเนินการสื่อสารสร้างความเข้าใจในเงื่อนไขดังกล่าวให้ และในส่วนของกรมพัฒนาธุรกิจฯ จะเป็นตัวกลางในการสื่อสารไปยังแพลตฟอร์มอื่นๆ ต่อไป (เอกสารรายละเอียด)

                กรมประมง จึงขอขอบคุณทุกแพลตฟอร์มที่ให้ความร่วมมือกับทางภาครัฐที่จะช่วยกันประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับผู้ค้าและผู้บริโภค และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะสามารถช่วยลดผลคดีจับกุมผู้กระทำความผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้ ที่สำคัญยังมีส่วนช่วยลดการทำลายพันธุ์สัตว์น้ำ ก่อให้เกิดความยั่งยืนของทรัพยากรและอาชีพการทำประมงด้วย