1. กิจกรรมผลิตพันธุ์สัตว์น้ำ
จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรในประเทศอย่างต่อเนื่อง เป็นผลให้ความต้องการในการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทรัพยากรสัตว์น้ำมีแนวโน้มลดลงหรืออาจสูญพันธุ์ได้หากไม่มีมาตรการอนุรักษ์ที่ดีพอ นอกจากมาตรการในการอนุรักษ์แล้ว การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อทดแทนส่วนที่สูญสิ้นไป ยังนับเป็นมาตรการที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไป เพื่อการเพิ่มผลผลิตทางการประมงในแหล่งน้ำธรรมชาติ นอกจากนี้ยังต้องพัฒนาเทคนิคด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อเพิ่มกำลังผลิตให้มีความสมดุลกับความต้องการในการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ตามการเพิ่มของประชากร
2. กิจกรรมสนับสนุนโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมลง ไม่เอื้ออำนวยต่อการแพร่ขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำจืดตามธรรมชาติ ประกอบกับการทำการประมงเกินกำลังผลิตของแหล่งน้ำ ตลอดจนภัยธรรมชาติ กล่าวคือ พันธุ์ปลาน้ำจืดของไทยบางชนิดได้สูญพันธุ์ไป และอีกหลายชนิดมีปริมาณลดลงจนกระทั่งอยู่ในสภาวะน่าวิตกต่อการสูญพันธุ์
โครงการฟื้นฟูทรัพยากรพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำจืดของไทย เป็นโครงการพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ซึ่งได้ทรงมีพระราชเสาวนีย์ตรัสถามกรมประมงว่า "ปลาไทยหายไปไหนหมด" เพื่อเป็นการสนองพระราชประสงค์ กรมประมงจึงเริ่มดำเนินโครงการในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ โดยมีนโยบายว่า
1. ปลาไทยชนิดใดสามารถส่งเสริมให้ราษฎรเพาะเลี้ยงได้ก็จะส่งเสริมให้เพาะเลี้ยง
2. ปลาไทยชนิดใดเหมาะสมที่จะปล่อยลงในแหล่งน้ำก็จะเพาะพันธุ์ ปล่อยแหล่งน้ำธรรมชาติ
3. ส่งเสริมเยาวชนให้รักสัตว์น้ำตามภาคต่าง ๆ เพื่อรวบรวมพันธุ์ปลาพื้นเมืองไปเลี้ยงไว้
โครงการฟื้นฟูทรัพยากรพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำจืดของไทย จึงมุ่งเน้นทั้งการเพาะเลี้ยงในเชิงการค้าและการปล่อยในแหล่งน้ำ เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการประมง อันเป็นการเพิ่มรายได้และเพิ่มปริมาณอาหารโปรตีนแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในชนบท ตลอดจนสามารถคืนความหลากหลายของชนิดปลา จึงจะรักษาสภาพความสมดุลตามธรรมชาติของแหล่งน้ำ อันจะนำมาซึ่งการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างยั่งยืนตลอดไป
3. กิจกรรมตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าประมง
ในปัจจุบันมีประเทศผู้นำเข้าสินค้าใช้เรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety) เป็นข้อต่อรองทางการค้า โดยเฉพาะในเรื่องของคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่ปลอดจากสารเคมีตกค้าง และการเลี้ยงที่ถูกสุขอนามัย ซึ่งมีแนวโน้มที่จะทวีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การพัฒนาคุณภาพด้านผลิตภัณฑ์ (สัตว์น้ำจืด) จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ประกอบกับในปี 2547 รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นปีแห่งความปลอดภัยด้านอาหาร กรมประมงจึงมีมาตรการในการพัฒนาระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ปราศจากยาปฏิชีวนะในกลุ่มคลอแรมฟินิคอลและไนโตรฟูแรนส์ตกค้าง โดยกรมประมงจะตรวจและรับรองฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่เป็นไปตามมาตรฐานขั้นปลอดภัย
เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ก่อนที่เกษตรกรจะผ่านการตรวจรับรองฟาร์ม จำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรมและทราบขั้นตอนในการปฏิบัติตามแนวทางที่กรมประมงกำหนด เพื่อให้ฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสามารถรักษามาตรฐานที่ดีให้คงไว้อย่างต่อเนื่อง ทำให้การผลิตสัตว์น้ำที่ปลอดสารตกค้างออกสู่ตลาด สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค และสร้างความมั่นคงในการส่งออกไปต่างประเทศ โดยไม่มีปัญหาสารตกค้างเกิดขึ้นต่อไป
4. โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ (สัตว์น้ำจืด)
หลักการและเหตุผล
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายเพื่อพัฒนาแหล่งผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้านการเกษตรให้มีความสมบูรณ์และครบวงจรเพื่อแก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาด ราคาตกตํ่า และให้ผลผลิตที่ได้มีมาตรฐาน โดยส่งเสริมให้เกษตรกรร่วมกันผลิตเป็นแปลงใหญ่ จัดการการเลี้ยงตามมาตรฐาน การจัดหาปัจจัยการผลิต การลดต้นทุนการผลิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม การจัดการผลผลิต การเพิ่มมูลค่าผลผลิต และการเชื่อมโยงสินค้าสู่ตลาด โดยมีผู้จัดการโครงการ (Project manager) เป็นผู้ให้คำแนะนำ ติดตาม และประสานงานกับเกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการในด้านต่างๆ ดังกล่าว
ในปี พ.ศ. 2560 ประเทศไทยมีผลผลิตสัตว์นํ้าจืด 605,900 ตัน มูลค่าประมาณ 32,847 ล้านบาท ชนิดสัตว์นํ้าที่สำคัญคือ ปลานิล ปลาดุก กุ้งก้ามกราม ปลาตะเพียน ปลาช่อน ปลาสลิด ปลาสวาย และปลาหมอ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรประสบปัญหาด้านต้นทุนการผลิตสูง ระบบการเลี้ยงไม่ได้มาตรฐาน และราคาตกต่ำ ดังนั้นเพื่อพัฒนาเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตวน้ำจืดให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในเชิงประจักษ์ กรมประมงจึงดำเนินการโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ (สัตว์นํ้าจืด) ภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาศักยภาพการผลิตภาคเกษตร ซึ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้น และลดต้นทุนเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด ด้วยการเลี้ยงตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้าที่ดี โดยมีการรวมกลุ่มกันของเกษตรกรเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองในการซื้อปัจจัยการผลิตและจำหน่ายผลผลิต ซึ่งการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
วัตถุประสงค์
1. เพิ่มผลผลิตการเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้าของเกษตรกร
2. ลดต้นทุนการผลิตในการเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้าของเกษตรกร
3. ยกระดับมาตรฐานฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตวน้ำเข้าสู่มาตรฐานการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้าที่ดี (GAP)
4. พัฒนากลุ่ม วิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์ผู้เพาะเลี้ยงสัตวน้ำ เพื่อเป็นตัวกลางในการบริหารจัดการระบบการผลิตและการเชื่อมโยงผลผลิตสู่ตลาดให้แก่สมาชิก
5. มีตลาดจำหน่ายผลผลิตสัตว์นํ้า
5. โครงการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map)
หลักการและเหตุผล
เนื่องด้วยรัฐบาลมีนโยบายการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม หรือ "เกษตรโซนนิ่ง" (Zoning by Agri-Map) โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาในภาคการเกษตรไทย เช่นราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ การขาดแคลนน้ำ เป็นต้น รัฐบาลจึงมีนโยบายปรับเปลี่ยนพื้นที่นาข้าวเข้าสู่กิจกรรมด้านอื่นๆ ให้เหมาะสมกับพื้นที่และสนับสนุนข้อมูลให้เกษตรกรใช้ประกอบการตัดสินใจ ปรับเปลี่ยนพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาในภาคการเกษตรไทย โดยใช้แนวทางการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรด้วยการพิจารณาถึงความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ กับชนิดของพืชผลทางการเกษตรที่จะปลูก ว่าสอดคล้องเหมาะสมกันหรือไม่ หากไม่เหมาะสมจะสามารถเปลี่ยนแปลงการประกอบอาชีพได้อย่างไร หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องก็จะเข้ามาช่วยเสนอแนวทางเลือกใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับพื้นที่ต่อไป
ด้วยเหตุนี้ กรมประมงจึงมีแนวคิดที่จะส่งเสริมให้มีการเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการทำนาข้าว เพื่อทดลองปรับเปลี่ยนเป็นกิจกรรมการเลี้ยงสัตว์น้ำและส่งเสริมให้เป็นอาชีพทางเลือกแก่เกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการ
วัตถุประสงค์
1. เพื่อส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าวปรับเปลี่ยนกิจกรรมสู่การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
2. เพื่อสร้างอาชีทางเลือกให้แก่เกษตรกร
6. โครงการธนาคารสินค้าเกษตร (กิจกรรมสนับสนุนธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม)
ความเป็นมา
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายในการบริหารจัดการผลผลิตการเกษตร เพื่อให้ชุมชนเกษตรกรในแต่ละพื้นที่มีความเข้มแข็งสามารถบริหารจัดการสินค้าผลผลิตการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสนองต่อความมั่นคงด้านอาหารและสร้างรายได้ในครัวเรือน จึงมีนโยบายให้ดำเนินโครงการธนาคารสินค้าเกษตร เพื่อพัฒนาการบริหารจัดการผลผลิตด้านการเกษตร ดังนั้น เพื่อตอบสนองนโยบายกระทรวงฯ ดังกล่าว กรมประมงจึงได้ดำเนินงานโครงการธนาคารสินค้าเกษตร (กิจกรรมสนับสนุนธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม) โดยการส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการสัตว์น้ำ ผลผลิตจากสัตว์น้ำ หรือรายได้ที่เกิดจากโครงการฯ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การดำเนินงานโครงการฯ อาศัยแหล่งน้ำชุมชนเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการ โดยความร่วมมือของชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย เน้นการให้ความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในแหล่งน้ำชุมชนเป้าหมาย โดยการปล่อยเลี้ยง เพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหารสัตว์น้ำของชุมชน ให้มีเพียงพอต่อการบริโภคและสร้างรายได้เพื่อความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชนและการดำรงชีวิตของราษฎรให้อยู่ดีกินดี ชุมชนมีความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน โดยในปีงบประมาณ 2563 มีเป้าหมายดำเนินการโครงการฯ ทั้งหมด 80 แห่ง โดย ดำเนินการในแหล่งน้ำแห่งใหม่ จำนวน 20 แห่ง และติดตามการดำเนินงานโครงการฯเพื่อให้เกิดความความต่อเนื่องในแหล่งน้ำแห่งเก่าปี 2562 จำนวน 20 แห่ง ในแหล่งน้ำแห่งเก่าปี 2561 จำนวน 20 แห่ง และในแหล่งน้ำแห่งเก่าปี 2560 จำนวน 20 แห่ง
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้ราษฎรในชุมชนเป้าหมายโครงการมีผลผลิตสัตว์น้ำเพียงพอต่อการบริโภค สามารถสร้างรายได้และลดรายจ่ายในครัวเรือน
2. เพื่อให้ชุมชนมีความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด และสามารถบริหารจัดการแหล่งน้ำในชุมชนในการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำจืด และเป็นธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม
3. เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการบริหารแหล่งน้ำชุมชน เพื่อเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำจืดและการทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด อย่างมีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืน
7. โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้้าจืด
หลักการและเหตุผล
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดนโยบาย “การพัฒนาเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer โดยมี Smart Officer เป็นเพื่อนคู่คิด” โดยที่ Smart Farmer หมายถึง บุคคลที่มีความภูมิใจในการเป็นเกษตรกร มีความรอบรู้ในระบบการผลิต มีความสามารถในการวิเคราะห์ เชื่อมโยง และบริหารจัดการการผลิตและการตลาด โดยใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ คำนึงถึงคุณภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค สังคม และสิ่งแวดล้อม มีความภาคภูมิใจในความเป็นเกษตรกร โดยคณะทำงานระดับจังหวัดได้มีการดำเนินการสำรวจและคัดกรองเกษตรกรในพื้นที่เพื่อคัดกรองและจัดกลุ่มเกษตรกรเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย เกษตรกรเป้าหมายที่จะพัฒนาให้เป็น Smart Farmer โดยสมบูรณ์ (Existing Smart Farmer) เกษตรกรเป้าหมายที่จะพัฒนาให้เป็น Smart Farmer (Developing Smart Farmer) และเกษตรกรที่มีความโดดเด่นในแต่ละสาขาเพื่อเป็นต้นแบบให้มีการเรียนรู้จากเกษตรกรด้วยกันเอง (Smart Farmer ต้นแบบ) รวมทั้งสามารถทราบได้ว่า เกษตรกรประสบปัญหาหรือมีความต้องการการพัฒนาในด้านใดเพื่อให้สามารถกำหนดแนวทางการพัฒนาได้สอดคล้องกับความต้องการมากขึ้น
นอกจากนี้ กำรขับเคลื่อนภาคเกษตรในช่วงของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) ยังให้ความสำคัญกับการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) ให้สามารถปรับตัวได้เท่าทันสถานการณ์ สามารถเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในการปรับโครงสร้างฐานความรู้ของเกษตรกรส่วนใหญ่ เชื่อมโยงข้อมูลและความรู้ทางวิชาการเพื่อกำรตัดสินใจ นำไปสู่การวิเคราะห์และช่วยกันสร้างทางเลือกใหม่ให้กับท้องถิ่น ที่สำคัญต้องเชื่อมโยงเกษตรกรในกลุ่มที่ยากต่อการปรับตัวด้วยตนเองให้สามารถปรับตัวได้ Young Smart Farmer จึงเป็นกลุ่มเกษตรกรกลุ่มใหม่ที่มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้ภาคเกษตรของไทยก้าวข้ามปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่เกษตรกรส่วนใหญ่ต้องเผชิญเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้เกษตรกรได้รับการพัฒนาศักยภาพให้บรรลุตามเกณฑ์กำหนดเพื่อให้เป็นเกษตรกรปราดเปรื่องในการประกอบอาชีพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดตลอดห่วงโซ่คุณค่า
2. เพื่อให้เกษตรกรได้รับการพัฒนาให้สามารถเป็นเกษตรกรต้นแบบและเป็นแหล่งเรียนรู้ในการประกอบอาชีพด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
8. โครงการบริหารจัดการทรัพยากรประมง กิจกรรมบริหารจัดการทรัพยากรประมงน้ำจืด
การเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในแหล่งน้ำชุมชนเพื่อสร้างรายได้และลดค่าครองชีพของประชาชน
หลักการและเหตุผล
ผลผลิตสัตว์น้ำจืดที่มีอยู่ตามแหล่งน้ำธรรมชาติโดยเฉพาะแหล่งน้ำปิดที่มีความสำคัญกับชุมชน เช่น อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ห้วย และหนองบึงต่าง ๆ ถือได้ว่าเป็นแหล่งทรัพยากรประมงอันมีค่าที่ก่อให้เกิด แหล่งอาหารโปรตีน ก่อให้เกิดการจ้างงานและรายได้ในภาคประมงสำหรับชุมชนโดยเฉพาะชุมชนในชนบท เมื่อประเทศไทยได้มีการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมส่งผลให้ทรัพยากรประมงที่มีในแหล่งน้ำธรรมชาติ ได้ถูกนำขึ้นมาใช้ประโยชน์มากขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการบริโภคสัตว์น้ำของประชากรของประเทศที่มีการเพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่องในแต่ละปีจนทำให้ทรัพยากรประมงนั้นมีแนวโน้มลดลง ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้นับวันจะทวีความรุนแรง เพิ่มขึ้นทำให้รัฐบาลเล็งเห็นปัญหาและมีนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดเป็นหน่วยงานหลักหน่วยงานหนึ่งของกรมประมง ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องนี้โดยมีหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรประมงในแหล่งน้ำปิด เพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรประมงในแหล่งน้ำธรรมชาติต่าง ๆ โดยใช้กลยุทธการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำ ในแหล่งน้ำ และในการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำแต่ละครั้งจะให้ชุมชนมีส่วนร่วมเพื่อจะได้ตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญ ของทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่อจะได้เกิดความหวงแหนและช่วยดูแลแหล่งน้ำนั้น
ในปีงบประมาณ 2568 กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดมีแผนการดำเนินงาน โครงการบริหารจัดการทรัพยากรประมง กิจกรรมบริหารจัดการทรัพยากรประมงน้ำจืด การเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำ ในแหล่งน้ำชุมชนเพื่อเพิ่มรายได้และลดค่าครองชีพของประชาชน โดยมีเป้าหมายการผลิตสัตว์น้ำเพื่อปล่อยใน แหล่งน้ำปิดของชุมชน จำนวน 1,500 แห่ง จำนวนสัตว์น้ำจืดเศรษฐกิจที่ปล่อยจำนวน 116.4 ล้านตัว เพื่อเพิ่ม ผลผลิตสัตว์น้ำจืดเศรษฐกิจ ให้เป็นแหล่งอาหาร และสร้างรายได้ให้กับชุมชนโดยรอบแหล่งน้ำ ให้เกิดความมั่นคง ทางอาหาร และเกิดการสร้างรายได้จากอาชีพประมงและอาชีพต่อเนื่องโดยรอบแหล่งน้ำชุมชน สร้างความยั่งยืนใน การบริหารจัดการทรัพยากรโดยการมีส่วนรวมของประชาชนทั่วประเทศต่อไป
วัตถุประสงค์
เพื่อเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำจืดในแหล่งน้ำชุมชน (แหล่งน้ำปิด) ขนาด 10 - 60 ไร่ โดยการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำจืดเศรษฐกิจ 7 ชนิด จำนวน 116.4 ล้านตัว ลงในแหล่งน้ำชุมชน จำนวน 1,500 แห่ง ให้เป็นแหล่งอาหารและสร้างรายได้ของชุมชน
9. โครงการส่งเสริมอาชีพประมง หลักสูตร การเพาะเลี้ยงปลาสวยงาม
หลักการและเหตุผล
ปัจจุบันการประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงาม ได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากเป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ที่ดีให้กับเกษตรกร สามารถจำหน่ายได้ทั้งช่องทางออนไลน์ และช่องทางออฟไลน์ มีการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศทั่วโลก มีหน่วยงานภาครัฐเข้าไปส่งเสริม สนับสนุนทั้งทางด้านการผลิต การตลาด การเพิ่มมูลค่าของสินค้า แต่อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาที่ผ่านมาเกษตรกรบางรายก็ยังประสบปัญหาด้านราคา ไม่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย ไม่มีการรวมกลุ่ม/เครือข่าย โดยส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะต่างคนต่างทำ มีผลทำให้ถูกกดราคาสินค้า ผูกขาดด้วยพ่อค้าคนกลางเพียงรายเดียว โอกาสในการต่อรองราคามีน้อย ตลอดจนขาดที่ปรึกษาให้คำแนะนำทั้งด้านการผลิต การปรับปรุงพันธุ์ และการตลาด
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดขอนแก่นจึงเล็งเห็นความสำคัญในการเสริมสร้างความรู้ ให้แก่ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงาม นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนที่สนใจในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสัตว์น้ำสวยงาม เช่น การจำหน่ายสัตว์น้ำสวยงามเบื้องต้น สายพันธุ์ปลากัดไทยและการเพาะเลี้ยงปลากัด การเพาะพันธุ์ปลาสวยงามออกลูกเป็นตัว และการจำหน่ายปลากัดออนไลน์ โดยเป็นการอบรมเพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมสามารถนำความรู้ในเรื่องต่างๆไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริมต่อไป
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้ความรู้ที่เกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงาม แก่เกษตรกรที่สนใจนำความรู้ไปปรับใช้ในการประกอบอาชีพ ทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริม
2. เพื่อให้ความรู้ในด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงาม และด้านการจำหน่ายสัตว์น้ำสวยงาม
10. โครงการส่งเสริมอาชีพประมง
กิจกรรมหลักส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิต
กิจกรรมย่อยส่งเสริมการเพาะเลี้ยงและพัฒนาธุรกิจสัตว์น้ำจืดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ
หลักการและเหตุผล
กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด กรมประมง มีพันธกิจในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้ได้มาซึ่งเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสัตว์น้ำจืด การถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดสู่เกษตรกรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและขีดความสามารถใน การประกอบอาชีพอย่างยั่งยืน ดังนั้น การส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจสัตว์น้ำจืดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ จึงเป็นภารกิจหลักและมีความสำคัญเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นและมีความมั่นคงในอาชีพ
กรมประมง โดยกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ได้จัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนา สัตว์น้ำจืดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ พ.ศ.2565-2570 จำนวน 16 ชนิด ได้แก่ กุ้งก้ามกราม ปลานิล ปลาดุก ปลาช่อน ปลาแรด ปลาสลิด ปลาตะเพียนขาว กบนา ปลาหมอ ปลาสวาย ปลายี่สกเทศ ปลานวลจันทร์เทศ ปลากดหลวง ปลาเทโพ ปลากดเหลือง และสัตว์น้ำสวยงาม เพื่อกำหนดทิศทาง การพัฒนาการเพาะเลี้ยงน้ำจืดและเป็นแนวทางให้กับหน่วยงานกรมประมงและผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินงานด้านการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ที่มีความสำคัญทางเศรฐกิจดังกล่าวตลอดห่วงโซ่คุณค่าให้เกิดประสิทธิภาพสุงสุดสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับผลผลิต โดยได้กำหนดแนวทางการพัฒนา ภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1. ด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม 2.ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 3.ด้านการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกร 4. ด้านการตลาด
เพื่อการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการพัฒนาสัตว์น้ำจืดที่มีความสำคัญ ทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2565-2570 ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และบรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาสัตว์น้ำจืดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจดังกล่าว กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด จึงได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงและพัฒนาธุรกิจสัตว์น้ำจืดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ จำนวน 14 ชนิด ได้แก่ ปลานิล ปลาดุก ปลาช่อน ปลาแรด ปลาสลิด ปลาตะเพียนขาว กบนา ปลาหมอ ปลากดหลวง ปลายี่สกเทศ ปลานวลจันทร์เทศ ปลาสวาย ปลาเทโพ และปลากดหลวง โดยมีกรอบแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาการวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม การถ่ายทอดองค์ความรู้และส่งเสริมการเพาะเลี้ยงให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐานตามความต้องการของตลาด การส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกรเพื่อสร้างความเข้มแข็ง และการส่งเสริมการเชื่อมโยงเครือข่าย การผลิตและการตลาด รวมถึงการเพิ่มมูลค่าผลผลิตสัตว์น้ำ โดยการส่งเสริมการแปรรูปสินค้าและผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดสัตว์น้ำจืดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจให้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาธุรกิจสัตว์น้ำจืดตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) นำไปสู่การพัฒนาในภาคการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดอย่างมั่นคง และยั่งยืนต่อไป
วัตถุประสงค์
1. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการผลิตสัตว์น้ำจืดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ
2. เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ
3. เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างการเชื่อมโยงตลาดและเพิ่มช่องทางการตลาดของสัตว์น้ำจืดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ
11. งานเงินทุนหมุนเวียนในการผลิตพันธุ์ปลา พันธุ์กุ้ง และพันธุ์สัตว์น้ำอื่นๆ
หลักการและเหตุผล
งานเงินทุนหมุนเวียนในการผลิตพันธุ์ปลา พันธุ์กุ้ง และพันธุ์สัตว์น้ำอื่นๆ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2523 โดยดำเนินการตามระเบียบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่าด้วยเงินทุนหมุนเวียนในการผลิตพันธุ์ปลา พันธุ์กุ้งและพันธุ์สัตว์น้ำอื่นๆ พ.ศ. 2523 มีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาใช้จ่ายเป็นทุนหมุนเวียนในการจัดหาพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อผลิตพันธุ์สัตว์น้ำที่ได้ทำการผลิตขึ้นเอง และที่ได้จากการรวบรวมพันธุ์สัตว์น้ำจากธรรมชาติโดยส่วนราชการของกรมประมง เพื่อจำหน่ายให้แก่ราษฎร ซึ่งเป็นเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการให้แก่เกษตรกรเป็นหลักการที่สำคัญ มิได้มีวัตถุประสงค์ผลิตเพื่อจำหน่ายและสร้างผลกำไรเหมือนภาคเอกชน เนื่องจากกิจกรรมการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจำเป็นต้องใช้ผู้มีความรู้และชำนาญจึงจะสามารถดำเนินการได้สำเร็จ ดังนั้นในระหว่างที่ภาคเอกชนยังไม่มีความพร้อมและความเข้มแข็ง กรมประมงจึงเป็นผู้ผลิตพันธุ์สัตว์น้ำให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงเพื่อยังชีพและสร้างรายได้ต่อไป
วัตถุประสงค์
1. เพื่อผลิตและจำหน่ายสัตว์น้ำพันธุ์ดี มีคุณภาพตามมาตรฐาน
2. เพื่อนำงานวิจัยมาประยุกต์ใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพันธุ์สัตว์น้ำ
3. เพื่อพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ในการเพิ่มประิทธิภางานเงินทุนหมุนเวียนฯ
4. เพื่อพัฒนาระบบบริหารทรัพยากรบุคคลให้สอดคล้องกับงานเงินทุนหมุนเวียนฯ