งานนิทรรศการ “การพัฒนาการเกษตรพะเยาโมเดล กว๊านพะเยาแหล่งชีวิต”


[2025-07-25] การประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ข้อเสนอแนวทางการปฏิบัติงานในระดับพื้นที.. [2025-07-24] การประชุมกองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ครั้งที่ 4/2568 ณ จังหวัดขอนแก่น.. [2025-07-17] รองอธิบดีกรมประมงลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดพะเยาและติดตามความก้าวหน้าก.. [2025-07-16] การปล่อยพันธุ์กุ้งก้ามกราม ตามโครงการฟื้นฟูกุ้งก้ามกรามในจังหวัดพะเยา.. [2025-07-12] การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวของเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ภายใต้โครงการเ.. [2025-07-12] การประชุมหารือแนวทางการดำเนินการขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุหนองหาร จังหวัดส.. [2025-07-01] การประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการและพัฒนาบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ หน.. [2025-06-26] กิจกรรมปล่อยพันธุ์กุ้งก้ามกราม ตามโครงการฟื้นฟูกุ้งก้ามกรามในจังหวัดพะ.. [2025-06-24] เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ลงพื้นที่เพื่อติดตามประเมินผลการด.. [2025-06-24] การประชุมเพื่อติดตามประเมินผลโครงการตามแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ปร.. อ่านทั้งหมด 

งานนิทรรศการ “การพัฒนาการเกษตรพะเยาโมเดล กว๊านพะเยาแหล่งชีวิต” 

 ข่าวประชาสัมพันธ์  ข่าวผู้บริหารกรมประมง

ส่ง email แชร์ X ส่ง Line แชร์ Facebook
ฟังเสียงบรรยาย
ฟังเสียงบรรยาย

ธรรมนัส...ชู “พะเยาโมเดล” เป็นต้นแบบการพัฒนาด้านเกษตรมูลค่าสูง
มุ่งพัฒนาคน พื้นที่ ยกระดับสินค้าเกษตร
เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร สร้างรายได้อย่างยั่งยืน
 
วันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม 2567 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดพะเยา ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานนิทรรศการ “การพัฒนาการเกษตรพะเยาโมเดล กว๊านพะเยาแหล่งชีวิต” ชูผลการดำเนินงานยกระดับสินค้าเกษตรมูลค่าสูง หวังขยายผลต่อยอดปรับใช้ในพื้นที่อื่น สร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานฯ ว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพของประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการเกษตรและอาหารของโลก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตร ด้วยการปรับเปลี่ยนการเกษตรจากรูปแบบเดิมไปสู่การทำเกษตรที่มีมูลค่าสูง มุ่งเน้นพัฒนาด้านการเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนโดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพการพัฒนาครอบคลุมทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ ภายใต้การบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อน “พะเยาโมเดล” เป็นต้นแบบการยกระดับสินค้าภาคการเกษตรในพื้นที่ให้มีมาตรฐานและตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านการตลาด สามารถสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกรและประชาชนในจังหวัดพะเยาและพื้นที่ใกล้เคียง ขยายผลต่อยอดไปสู่การบริหารจัดการสินค้าเกษตรชนิดอื่น ๆ ภายใต้กรอบแนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริมเพิ่มรายได้”
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของกรมประมงได้มีการสร้างต้นแบบการพัฒนาด้านประมงที่ดีภายใต้ “พะเยาโมเดล” โดยมุ่งส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดพันธุ์ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง ทั้งปลายี่สกเทศ และกุ้งก้ามกราม ให้เข้าสู่มาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการบริโภค (Food Fish) โดยใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมจากการวิจัยมาปรับใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและมูลค่าตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ตั้งแต่การผลิต การแปรรูป และการจำหน่าย ซึ่งปัจจุบันเกิดผลผลิตสัตว์น้ำ สามารถจำหน่ายได้กว่า 5,558 ตัน คิดเป็นมูลค่า กว่า 351 ล้านบาท
โดยภายในงานมีการจัดนิทรรศการนำเสนอผลการดำเนินงานขับเคลื่อน “พะเยาโมเดล” จากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การจัดนิทรรศการนำเสนอข้อมูลด้านการประมงต่าง ๆ อาทิ ข้อมูลทรัพยากรสัตว์น้ำในกว๊านพะเยาแบบ Realtime โดยใช้ Platform ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ, พะเยาโมเดลด้านประมงในการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ, ตำนานปลาบึกจากโขงสู่กว๊านพะเยาที่นำเสนอประวัติการเพาะพันธุ์ปลาบึกครั้งแรกของโลก ข้อมูลด้านวิชาการและบริหารจัดการปลาบึก ฯลฯ เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้แก่ประชาชน นักเรียน นักศึกษา และผู้เข้าร่วมงานสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่ของตนเอง นอกจากนี้ ยังมีการสาธิตการทำอาหารโดยใช้วัตถุดิบจากสัตว์น้ำจืดที่กรมประมงได้มีการส่งเสริมให้เพาะเลี้ยงภายใต้พะเยาโมเดล และบูทจำหน่ายผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงพะเยาโมเดล โดยโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะผู้บริหาร ได้เยี่ยมชมจุดสาธิตการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (ปลายี่สกเทศ หอยมุกน้ำจืด และกุ้งก้ามกราม) ภายในศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดพะเยา และร่วมกันปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงสู่กว๊านพะเยาจำนวนทั้งสิ้น 102,000 ตัว ประกอบด้วย ปลาตะเพียนขาว 70,000 ตัว ปลาบึก 2,000 ตัว และกุ้งก้ามกราม 30,000 ตัว เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจทางด้านประมงน้ำจืด คืนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรประมงในแหล่งน้ำเกิดการสร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับชาวประมงในพื้นที่ต่อไป
อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า... กรมประมงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ต้นแบบการพัฒนาด้านประมงที่เกิดจากการขับเคลื่อนการดำเนินงาน “พะเยาโมเดล” นี้ จะสามารถขยายผลต่อยอดเป็นโมเดลให้พื้นที่อื่นนำองค์ความรู้ไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ สร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร สร้างรายได้ สร้างโอกาส และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกร นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้อยู่ดีมีสุข ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนต่อไป
 
ในการนี้ มีตัวแทนจากกองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด นำโดย นายวรัณยู  ขุนเจริญรักษ์ ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด นายนิกร  กันคุ้ม หัวหน้าหน่วยขุดลอกและกำจัดวัชพืชกว๊านพะเยา นายณัฐพงษ์  ดวงปิก หัวหน้าหน่วยบูรณะแหล่งน้ำเพื่อการประมงเชียงราย และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยฯ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงานดังกล่าวด้วย


คุยกับน้องมัจฉา Add Friends คุยกับน้องมัจฉา