กลุ่มช่วยเหลือเกษตรกรและชาวประมง
กรมประมง เตรียมแผนคุมภัยแล้ง ปี 2564 เตือน!! เกษตรกรเฝ้าระวัง พร้อมมือ พร้อมให้คำแนะนำเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ควรปฎิบัติดังนี้
เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ช่วงฤดูร้อน อุณหภูมิอากาศและน้ำสูงขึ้นมาก ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ ลดน้อยลง ช่วงนี้ถ้ามีฝนตก อุณหภูมิอากาศและน้ำ จะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สภาวะต่าง ๆ ดังกล่าว จะมีผลกระทบต่อสุขภาพปลาที่เลี้ยงโดยตรง โดยทำให้ปลาเครียด อ่อนแอและยอมรับเชื้อโรคได้ง่าย โดยเฉพาะการเลี้ยงปลาในกระชังในแม่น้ำ ลำน้ำสาขา อ่างเก็บน้ำและคลองส่งน้ำต่าง ๆ
โรคที่ควรเฝ้าระวังในหน้าร้อน ได้แก่ โรคที่เกิดจากปรสิต เช่น เห็บระฆัง ปลิงใส เห็บปลา เหาปลา และหมัดปลา เป็นต้น โรคที่เกิดจากแบคทีเรีย เช่น สเตรปโตคอสคัส (Streptococcus sp.) แอโรโมแนส (Aeromonas hydrophila) วิบริโอ (Vibrio sp.) เป็นต้น แบคทีเรียดังกล่าว จัดอยู่ในกลุ่มแบคทีเรียนักฉวยโอกาส (Opportunistic bacteria) ที่พบและอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำทั่วไป โดยจะเข้าทำอันตรายปลา เมื่อปลาอ่อนแอและสามารถแพร่กระจายได้รวดเร็วโดยผ่านกระแสเลือดที่กระจายอยู่ทั่วตัว
ความรุนแรงของโรค ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของปลา ถ้าปลามีภูมิต้านทานโรคต่ำ ในขณะที่สภาพแวดล้อม (คุณภาพน้ำ) เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหรือมีคุณสมบัติน้ำไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของปลา ปลาที่มีปรสิต มีลักษณะอาการ เช่น ว่ายน้ำผิดปกติ เช่น แฉลบ หรือรวมกลุ่มที่ผิวน้ำ หายใจถี่ มีจุดแดง แผลถลอกตามผิวลำตัว เป็นต้น
ปลาที่ติดเชื้อแบคทีเรีย มีลักษณะอาการ เช่น ซึม ไม่กินอาหาร ว่ายน้ำควงสว่าน มีแผลเลือดออกตามผิวลำตัวและอวัยวะต่าง ๆ มีตุ่มฝีที่บริเวณใต้คางและผิวลำตัว ตาขุ่น โปน ครีบกร่อน ท้องบวม เป็นต้น
การรักษาโรค
แนวทางในการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคปลา มีดังนี้
1. ควรคัดเลือกพันธุ์ปลาที่มีความแข็งแรง จากฟาร์มผู้ผลิตที่ได้มาตรฐานและเชื่อถือได้
2. ควรเลือกใช้อาหารที่มีคุณภาพดีและให้ในปริมาณที่เหมะสม
3. ควรหมั่นตรวจสุขภาพปลาอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบสิ่งปกติ ให้รีบหาสาเหตุและแก้ไขได้ทันทีในขณะเดียวกัน ควรแจ้งให้ผู้เลี้ยงปลาในกระชังรายอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงทราบ เพื่อที่จะได้หามาตรการป้องกันการแพร่ กระจายโรค กรณีที่มีปลาป่วยตาย ควรกำจัดโดยการฝังหรือเผา ไม่ควรทิ้งปลาป่วยในบริเวณบ่อหรือกระชังที่เลี้ยงเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการแพร่กระจายเชื้อโรค ทำให้การระบาดของโรคเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว
กรณีที่เลี้ยงปลาในกระชังควรดำเนินการ ดังนี้
1. ควรเลือกแหล่งน้ำที่ตั้งกระชัง ที่มีระดับความลึกเพียงพอ คือเมื่อตั้งกระชังแล้ว พื้นกระชังควรสูงจากพื้นบ่อหรือพื้นน้ำไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร เพื่อให้น้ำถ่ายเทได้สะดวกตลอดเวลา
2. ควรจัดวางกระชังให้เหมาะสม ไม่วางชิดกันจนหนาแน่นมากเกินไป เพราะจะไปขัดขวางการไหลของกระแสน้ำ
3. อัตราการปล่อย ควรอยู่ในอัตราที่เหมาะสม ไม่หนาแน่นมากจนเกินไป ก่อนปล่อยปลาลงเลี้ยงในกระชัง ควรปรับสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะคุณสมบัติน้ำในภาชนะลำเลียงปลา ควรมีคุณสมบัติใกล้เคียงกันกับน้ำที่ต้องการปล่อยปลา เช่น อุณหภูมิ ค่าความเป็นกรดด่าง เป็นต้น
4. ควรทำความสะอาดกระชังสม่ำเสมอ เพื่อกำจัดตะกอนและเศษอาหาร ซึ่งเป็นการตัดวงจรชีวิตปรสิตและเชื้อโรค นอกจากนี้ช่วยให้กระแสน้ำไหลผ่านกระชังได้ดี มีผลต่อการเจริญเติบโตและสุขภาพปลา
ทั้งนี้ หากเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำท่านใดประสบปัญหาเรื่องโรคสัตว์น้ำหรือมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถติดต่อขอคำแนะนำในการดูแลสุขภาพสัตว์น้ำได้จากสำนักงานประมงจังหวัด ศูนย์วิจัยและพัฒนา การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมง กองวิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำ กรุงเทพมหานคร ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2579-4122 หรือศูนย์วิจัยสุขภาพสัตว์น้ำสงขลา ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-7433-4516-8