ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดตรัง
ประวัติศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดตรัง
กรมประมงได้รับหนังสือจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายชวน หลีกภัย) ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2524 เรื่อง ขอให้สนับสนุนโครงการจัดตั้งหน่วยผลิตพันธุ์ปลาน้ำจืด และได้เสนอให้ใช้ที่ดินในท้องที่ตำบลนาโต๊ะหมิง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ในการนี้กรมประมงได้สั่งการให้นักวิชาการประมงทำการสำรวจที่ดินตามที่นายชวน หลีกภัย เสนอไว้และมีความเห็นว่าดินบริเวณดังกล่าวมีความเหมาะสมที่จะตั้งหน่วยผลิตพันธุ์ปลาน้ำจืดได้ แต่ทางกรมประมงขาดงบประมาณในการก่อสร้าง ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้
4 - 10 พฤศจิกายน 2524 ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้เดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นและขอความช่วยเหลือทางด้านการประมงจากรัฐบาลญี่ปุ่นในการจัดตั้งศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืด 2 แห่ง ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมกันนั้นนายชวน หลีกภัย ซึ่งดำรงตำแหน่งว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้น ได้ขอให้รัฐบาลญี่ปุ่นช่วยเหลือสร้างสถานีประมงน้ำจืดเพิ่มอีกหนึ่งแห่งที่จังหวัดตรัง เพื่อรับผิดชอบทางด้านประมงน้ำจืดฝั่งอันดามันทั้งหมดโดยนายชวน หลีกภัย ให้การสนับสนุนในการจัดหาที่ดิน จำนวน 554 ไร่ 2 งาน 96ตารางวา ในท้องที่ตำบลนาโต๊ะหมิง อำเภอเมือง จังหวัดตรังและรัฐบาลญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือด้านการก่อสร้างสถานีประมงน้ำจืดเพิ่มขึ้นอีกแห่งที่จังหวัดตรัง
12 กุมภาพันธ์ 2525 รัฐบาลญี่ปุ่นส่งคณะทำงานเพื่อหาข้อเท็จจริงเบื้องต้นและดูสถานที่จะทำการก่อสร้าง
1-13 เมษายน 2525 คณะสำรวจข้อมูลและผู้ออกแบบก่อสร้างของญี่ปุ่นเดินทางมารวบรวมข้อมูลร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกรมประมง
29 ตุลาคม 2525 ณ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาลได้มีการลงนามรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่นในการก่อสร้างศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืด 2 แห่ง (จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและสุราษฎร์ธานี) และสถานีประมงน้ำจืด 1 แห่ง (จังหวัดตรัง) เป็นเงินทั้งหมด 120 ล้านบาท โดยรัฐบาลไทยออกสมทบอีก 40 ล้านบาท ในส่วนของสถานีประมงน้ำจืดตรังได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่น 21.07 ล้านบาท และงบรัฐบาลไทย 10 ล้านบาท
13 ธันวาคม 2525 ได้มีการลงนามในสัญญาการก่อสร้างศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืดทั้ง 2 แห่ง และสถานีประมงน้ำจืด 1 แห่ง ระหว่างอธิบดีกรมประมง ประธานบริษัทก่อสร้าง และตัวแทนที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้าง
10 กุมภาพันธ์ 2526 กรมประมงแต่งตั้งให้นายคีรี กออนันตกุล นักวิชาการประมง 6 ดำรง ตำแหน่งหัวหน้าสถานีประมงน้ำจืด จังหวัดตรัง
19 สิงหาคม 2526 กรมประมงได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดตรัง โดยนายบรม ตันเถียร (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) เป็นประธานในพิธี โดยนายชวน หลีกภัย (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ) มาร่วมในพิธีด้วย
31 มีนาคม 2527 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกอบพิธีมอบศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืด 2 แห่ง และสถานีประมงน้ำจืด 1 แห่ง ให้แก่รัฐบาลไทย ณ ศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืดพระนครศรีอยุธยา
ปี 2539 มีการปฏิรูประบบโครงสร้างระบบราชการตามกรอบอัตรากำลัง 3 ปี สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดตรัง ได้ยกระดับให้เป็นศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืดตรัง รับผิดชอบในการพัฒนาประมงน้ำจืดในเขตจังหวัดตรัง กระบี่ ภูเก็ต พังงา โดยมีโครงสร้างการบริหารงานรับผิดชอบสถานีประมงน้ำจืด 2 สถานี คือ จังหวัดพัทลุง และจังหวัดสตูล
ปี 2546 มีการปรับปฏิรูประบบโครงสร้างระบบราชการใหม่ได้เปลี่ยนชื่อหน่วยงานใหม่เป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดตรัง รับผิดชอบสถานีในสังกัด 1 แห่ง คือ สถานีประมงน้ำจืดสตูล
ปี 2559 มีการปรับปฏิรูประบบโครงสร้างระบบราชการใหม่ได้เปลี่ยนชื่อหน่วยงานใหม่เป็นศูนย์วิจัยและกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดเขต 11 (ตรัง) รับผิดชอบศูนย์ฯ ในสังกัด 2 แห่ง คือ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดสตูล และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดนครศรีธรรมราช
ปี 2564 มีการปรับปฏิรูประบบโครงสร้างระบบราชการใหม่ได้เปลี่ยนชื่อหน่วยงานใหม่เป็น "ศูนย์วิจัยและกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดตรัง"