ความเป็นมาของโครงการ 

ส่ง email ทวิต Tweeter ส่ง Line แชร์ Facebook

 

ความเป็นมาของโครงการ

 

 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชมาเป็นเวลาช้านาน จากการแปรพระราชฐานไปประทับ ณ วังไกลกังวล หัวหิน ในปี พ.ศ. 2503 เมื่อเสด็จผ่านอำเภอ   ท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ทอดพระเนตรสองข้างทางเห็นต้นยางนาขนาดใหญ่ขึ้นเป็นจำนวนมาก ทรงมีพระราชดำริที่จะสงวนป่ายางนานี้ไว้ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากมีราษฎรเข้าไปทำไร่ทำสวนในบริเวณดังกล่าวมาก จะต้องจ่ายเงินทดแทนในการจัดหาที่ใหม่ จึงไม่สามารถจัดถวายได้ตามพระราชประสงค์ เมื่อไม่สามารถปกป้องต้นยางนาที่อำเภอท่ายางได้ จึงทรงทดลองปลูกต้นยางนาเอง โดยทรงเพาะเมล็ดที่เก็บจากต้นยางนาในเขตอำเภอท่ายาง ในกระถางบนพระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล และทรงปลูกต้นยางนาเหล่านั้นในแปลงทดลองสาธิตใกล้พระตำหนักเรือนต้น สวนจิตรลดา

                   ต่อมาในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2535 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสืบต่องานอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ทรงมีรับสั่งกับนายแก้วขวัญ  วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวังและผู้อำนวยการส่วนพระองค์ฯ สวนจิตรลดา ให้ดำเนินการอนุรักษ์พืชพรรณของประเทศ และดำเนินการจัดสร้างธนาคารพืชพรรณขึ้น โดยมอบให้โครงการส่วนพระองค์ฯ สวนจิตรลดาฯ ฝ่ายวิชาการดำเนินงาน สำหรับการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ในระยะที่ผ่านมาถึงปัจจุบันมีหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมสนองพระราชดำริเพิ่มมากขึ้น ทำให้พื้นที่และกิจกรรมการดำเนินงานของโครงการกระจายออกไปในภูมิภาคต่าง ๆ และมีการดำเนินงานที่หลากหลาย นอกจากนี้เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2544 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชดำริกับนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สรุปความว่า “...ขอให้สำนักงาน กปร.  และโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ร่วมกันจัดทำแผนแม่บทเพื่อใช้เป็นกรอบในการดำเนินงาน โดยไม่ควรขยายพื้นที่ดำเนินงานออกไปมาก...

                   ดังนั้น เพื่อเป็นการสนองพระราชดำริให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่าง ๆ ในปัจจุบันกรมประมงจึงร่วมกำหนดแผนแม่บทโครงการฯ และนำแผนรายละเอียดแม่บทดังกล่าวมากำหนดแผนงานและบรรจุโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีไว้ในแผนการดำเนินงานของกรมประมง โดยได้ดำเนินกิจกรรมการเพาะและขยายพันธุ์สัตว์น้ำชายฝั่ง กิจกรรมการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำชายฝั่ง และกิจกรรมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ทะเลเพื่อเป็นการเพิ่มผลผลิตทรัพยากรประมงและฟื้นฟูรักษาสมดุลของระบบนิเวศน์ในแนวปะการัง และสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรประมงในแนวปะการังให้แก่เด็กและเยาวชน ให้เกิดความรักและหวงแหนที่จะช่วยกันดูแลรักษาให้ทรัพยากรคงอยู่สืบไป