ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออก เรือประมง เขต 2 (สงขลา)
วันที่ 28 มีนาคม 2558 กรมประมงได้มอบหมายให้จังหวัดสงขลานำร่องงานเกี่ยวกับ การแจ้งเข้า ออก ของเรือประมงขนาด 30 ตันกรอสขึ้นไปทุกประเภท ทุกชนิดเครื่องมือ ซึ่งใช้อาคารสถานที่ทำการของสถานีวิทยุชายฝั่งจังหวัดสงขลาเป็นที่ทำการชั่วคราว
วันที่ 17 เมษายน 2558 กรมประมงได้มีการจัดตั้งศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก หรือที่เราเรียกกันว่า PIPO ทั้งหมด 28 ศูนย์ ซึ่ง ศูนย์ฯ สงขลา เป็น 1 ใน 28 ศูนย์
วันที่ 21 เมษายน 2558 สหภาพยุโรปได้มีการประกาศให้ใบเหลืองประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
วันที่ 1 พฤษภาคม 2558 รัฐบาลได้มีคำสั่ง คสช.ที่ 10/2558 กำหนดให้ศูนย์ PIPO อยู่ภายใต้การดูแลของ ศปมผ. และศรชล. พร้อมชุดสหวิชาชีพร่วมในการปฏิบัติงาน
วันที่ 6 พฤษภาคม 2558 จังหวัดสงขลาได้จัดทำพิธีเปิดศูนย์ฯ และเริ่มดำเนินงานภายใต้การกำกับดูแลของ ศรชล. เขต 2 ซึ่งอาคารที่ทำการก็ยังใช้สถานีวิทยุชายฝั่งจังหวัดสงขลาเป็นที่ทำการเช่นเดิม
วันที่ 1 ตุลาคม 2559 เป็นต้นมา ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า - ออกเรือประมง เขต 2 (สงขลา) เป็นหน่วยงานราชการส่วนกลางที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค ตั้งขึ้นตามคำสั่งกรมประมง ที่ 922/2559 ลงวันที่ 30 กันยายน 255๙ เรื่อง การแบ่งหน่วยงานภายในภายใต้โครงสร้างการแบ่งงานภายในและหน้าที่ความรับผิดชอบของกองบริหารจัดการเรือประมงและการทำการประมง กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีหน่วยงานในสังกัด ซึ่ง เรียกว่า ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง จำนวน 7 หน่วยงาน ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดสุราษฏร์ธานี ต่อเนื่องลงมาจนถึงจังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีหน้าที่ความรับผิดชอบหลักในการ บริการรับคำขอแจ้งเข้า แจ้งออกจากท่าเทียบเรือของเรือประมงไทย ตรวจสอบเอกสารหลักฐานและเรือประมง เพื่อให้การเข้าออกท่าเทียบเรือของเรือประมงไทยเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด อนุญาตให้เรือออกทำการประมง ตรวจสอบกำกับการดำเนินงานของท่าเทียบเรือที่จดทะเบียนกับกรมประมง ควบคุม ตรวจสอบ รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลสมุดบันทึกการทำการประมง หนังสือกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำ หนังสือกำกับการขนถ่ายสัตว์น้ำ รวมทั้งข้อมูลของสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือประมง ให้บริการด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม ประชาสัมพันธ์ ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกิจการด้านการประมง และแจ้งเตือนภัย เฝ้าระวัง ติดตาม รับแจ้งเหตุให้เกษตรกรผู้ประกอบอาชีพด้านการประมง ศึกษา วิเคราะห์ วิจัยกระบวนการ และระบบควบคุม ตรวจสอบการเข้าออกท่าเทียบเรือ ติดตามเฝ้าระวังเรือประมงโดยใช้ระบบติดตามเรือประมง ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย
เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาใหม่ และมีภารกิจสำคัญที่จะผลักดันให้การประมงของไทยก้าวไปสู่การประมงที่ยั่งยืน ปราศจากการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม และเพื่อเป็นศูนย์รวมใจในเป้าหมายเดียวกันของส่วนราชการในสังกัด จึงได้จัดทำ เครื่องหมายเชิงสัญลักษณ์ (LOGO) ขององค์กรขึ้นมาเพื่อให้มีเอกลักษณ์แบบเฉพาะของทีมงาน สอดคล้องกับภาระงานที่รับผิดชอบ และให้ผู้พบเห็นผู้รับบริการจดจำง่าย เกิดความน่าเชื่อถือ หรือตราตรึงในใจของชาวประมงตลอดไป ซึ่งเครื่องหมายเชิงสัญลักษณ์ (LOGO) ขององค์กร มีรายละเอียด ดังนี้