สำนักงานประมงจังหวัดเพชรบูรณ์
การขึ้นทะเบียนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น
ตามประกาศกรมประมง เรื่อง หลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น พ.ศ. 2558
*********************
พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 บทบัญญัติในหมวด 2 การบริหารจัดการด้านการประมง มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดนโยบายและกำกับดูแลการบริหารจัดการด้านการประมง และการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำอยู่ในภาวะที่เหมาะสม และสามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน โดยให้กรมประมงส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสนับสนุนชุมชนประมงท้องถิ่นในการจัดการ การบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนจากทรัพยากรสัตว์น้ำ โดยมีบทบัญญัติปรากฏตามมาตรา 25 ดังนี้
มาตรา 25 เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสนับสนุนชุมชนประมงท้องถิ่นในการจัดการ การบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนจากทรัพยากรสัตว์น้ำภายในที่จับสัตว์น้ำในเขตประมงน้ำจืดหรือเขตประมงทะเลชายฝั่ง ให้กรมประมงดำเนินการให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) สนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนประมงท้องถิ่นในการจัดทำนโยบายตามมาตรา 19 (1) (กำหนดนโยบายการพัฒนาการประมงในน่านน้ำไทยให้สอดคล้องกับปริมาณของทรัพยากรสัตว์น้ำ และขีดความสามารถในการทำการประมง โดยคำนึงถึงจุดอ้างอิงเป็นสำคัญ)
(2) สนับสนุนให้มีการรวมกลุ่ม และจัดให้มีการขึ้นทะเบียนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด
(3) ให้คำปรึกษาแก่ชุมชนประมงท้องถิ่นในการจัดการ การบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำ รวมทั้งช่วยเหลือและสนับสนุนการดำเนินงาน โครงการ หรือกิจกรรมของชุมชนในเรื่องดังกล่าว
(4) เผยแพร่ความรู้หรือข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการจัดการ การบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำ
เพื่อให้เป็นการดำเนินการตามมาตรา 25 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 กรมประมงได้มีประกาศกรมประมง เรื่อง หลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น พ.ศ. 2558ลงวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2558 กำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขึ้นทะเบียนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสนับสนุนชุมชนประมงท้องถิ่นในการจัดการ การบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนจากทรัพยากรสัตว์น้ำภายในที่จับสัตว์น้ำในเขตประมงน้ำจืดหรือเขตประมงทะเลชายฝั่ง รวมทั้งช่วยเหลือและสนับสนุนการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมของชุมชนในเรื่องดังกล่าว โดยให้รับขึ้นทะเบียนการจัดตั้งเป็นองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น ดังนี้
คุณสมบัติของชุมชนประมงท้องถิ่นที่จะขอจัดตั้งเป็นองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น
ตามประกาศกรมประมง เรื่อง หลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนองค์กรประมงท้องถิ่น พ.ศ. 2558
1. ชุมชนประมงท้องถิ่น หมายความว่า กลุ่มประชาชนที่อยู่ร่วมกันในพื้นที่หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ หรือจังหวัด ที่รวมตัวกันโดยมีวัตถุประสงค์หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประมงร่วมกัน เพื่อช่วยเหลือหรือสนับสนุนกันหรือทำกิจกรรมร่วมกัน มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องและมีระบบบริหารจัดการและการแสดงเจตนาแทนกลุ่มได้
2. มีสมาชิกรวมกันไม่น้อยกว่า 7 คนโดยบุคคลดังกล่าวต้องไม่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน
3. สมาชิกขององค์กร ต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย
4. สมาชิกขององค์กร ต้องเป็นผู้ประกอบอาชีพการประมง และมีภูมิลำเนาหรือประกอบอาชีพการประมงอยู่ในเขตพื้นที่ชุมชนประมงท้องถิ่นนั้น
การขอขึ้นทะเบียน
1. การขอขึ้นทะเบียน ให้องค์กรหนึ่งมีสิทธิขอขึ้นทะเบียนได้เพียงหนึ่งจังหวัด
2. ให้กรรมการดำเนินงานขององค์กรที่ประสงค์จะขอขึ้นทะเบียนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นจำนวนไม่น้อยกว่า 3 คนร่วมกันยื่นคำขอ ตามแบบคำขอขึ้นทะเบียน ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานประมงจังหวัดในเขตพื้นที่ที่องค์กรนั้นตั้งอยู่ หรือยื่นผ่านทางสำนักงานประมงอำเภอ เพื่อส่งต่อให้สำนักงานประมงจังหวัดดำเนินการ
3. กรณีองค์กรที่ประสงค์ขอขึ้นทะเบียนมีฐานะเป็นนิติบุคคล ให้ผู้แทนตามกฎหมาย ข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้งนิติบุคคลนั้นเป็นผู้ยื่นคำขอ
เอกสารและหลักฐานประกอบการขอขึ้นทะเบียน
(๑) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียน
(๒) สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล กรณีเป็นนิติบุคคล
(๓) เอกสารแสดงประวัติโดยย่อขององค์กร การจัดตั้ง วันเดือนปีที่จัดตั้ง วัตถุประสงค์ที่จัดตั้ง พร้อมด้วยระเบียบหรือข้อบังคับ กรณีเป็นคณะบุคคลหรือองค์กรอื่น
(๔) บัญชีรายชื่อคณะกรรมการดำเนินงานในปัจจุบัน
(๕) บัญชีรายชื่อสมาชิก
สิทธิของชุมชนประมงท้องถิ่น
ผู้แทนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น มีสิทธิได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด ซึ่งคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) รวบรวมข้อเสนอแนะและแนวทางในการส่งเสริมอาชีพการประมง การจัดการ การบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำขององค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบเสนอต่อคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาจัดทำนโยบายพัฒนาการประมงในน่านน้ำไทยให้สอดคล้องกับปริมาณทรัพยากรสัตว์น้ำและขีดความสามารถในการทำการประมงตามมาตรา 16 (1)
(2) พิจารณาและเสนอแนวทางในการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาการประมงหรือการจัดการ การบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์ในที่จับสัตว์น้ำในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบต่อรัฐมนตรี คณะกรรมการ หรืออธิบดี
(3) ออกประกาศตามมาตรา 6 มาตรา 45 มาตรา 50 และมาตรา 51
(4) ดำเนินการอื่นตามที่รัฐมนตรีหรือคณะกรรมการมอบหมาย