สำนักงานประมงจังหวัดนครนายก
วันอังคารที่ 3 สิงหาคม 2564
นางสาวมัลลิกา วรรณประภา หัวหน้ากลุ่มพัฒนาและส่งเสริมอาชีพการประมง พร้อมด้วย นางสาวอรทิพา ผ่อนผาสุข ประมงอำเภอปากพลี และเจ้าหน้าที่ประมง เข้าตรวจประเมินรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยใช้เทคโนโลยี ผ่านระบบ VDO Conference เข้ามาช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกร ในพื้นที่อำเภอปากพลี เพื่อก้าวผ่านข้อจำกัดจากการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ที่หนักสุดในรอบปี ซึ่งการนำเทคโนโลยีมาใช้จะช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็เพื่อให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้อย่างปกติที่สุด เชื่อว่าเมื่อปรับตัวหลังจากผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปแล้ว ทุกอย่างจะเป็นเรื่องปกติ สอดคล้องกับวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ หรือ New Normal ถึงตรงนี้จะมองเห็นภาพว่า คำว่า "อนาคต" ของ "เทคโนโลยี" จะไม่ยาวไกลอีกต่อไป ฉะนั้นทุกเพศและทุกวัยจะต้องปรับตัวเพื่อยอมรับกับมัน เพราะความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นเพียง "ชั่วข้ามคืน"
เหตุผลที่ต้องรับรองมาตรฐานเป็นกระบวนการปฏิบัติ เพื่อยืนยันว่า ผลิตภัณฑ์และบริการเป็นไปตามข้อกำหนดของมาตรฐาน ซึ่งการรับรองนี้อาจดำเนินการโดยหน่วยงานที่เป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์หรือให้บริการนั้นเอง (first party) หรือผู้รับรองอาจเป็นผู้ซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้น (second party) หรือเป็นการตรวจรับรองโดยหน่วยงานอิสระ ที่ไม่ได้เป็นทั้งผู้ผลิต/ผู้ให้บริการ หรือผู้ซื้อ (third party) ความเป็นอิสระของหน่วยงานรับรองนี้ ไม่ได้หมายความว่า หน่วยงานนั้นจะต้องเป็นหน่วยงานกลาง (เช่น หน่วยราชการ หน่วยงานวิชาการ) ความเป็นอิสระของหน่วยงานอาจเกิดขึ้นได้จากการที่หน่วยงานดังกล่าวมีโครงสร้างที่ป้องกันผู้ที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง (หรือผลประโยชน์ทับซ้อน) มีบทบาทหรืออิทธิพลในกระบวนการตรวจรับรอง ซึ่งโดยปกติ การทำให้องค์กรตรวจรับรองมีความเป็นอิสระมักจะดำเนินการโดยการแต่ตั้งกรรมการจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์ให้มีจำนวนสมดุล (ถ่วงดุลกัน) โดยไม่มีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีอิทธิพลในกระบวนการตรวจและการรับรองมาตรฐานมากเกินไป
การรับรองมาตรฐานไม่ได้มีเฉพาะแต่ในผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ การรับรองนั้นเกิดขึ้นมาเป็นเวลานาน และมีการใช้การรับรองกับผลิตภัณฑ์ บริการ หรือแม้แต่ระบบบริหารคุณภาพ ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่ได้มีโอกาสรับรู้เกี่ยวกับการรับรองระบบบริหารคุณภาพตามเกณฑ์ของ ISO เช่น ISO 9002 ISO 14000 หรือ GMP และ HACCP เป็นต้น
ในการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ แม้ว่าในท้ายสุด ผู้ผลิต-ผู้ประกอบการจะได้รับประกาศนียบัตรจากหน่วยงานรับรองว่าได้รับการรับรอง และอนุญาตให้ใช้ตราเกษตรอินทรีย์ของหน่วยรับรองบนผลิตภัณฑ์ เพื่อแสดงให้ผู้บริโภคได้รับรู้และมีความมั่นใจว่า ผลิตภัณฑ์เป็นผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ตามเกณฑ์มาตรฐานของหน่วยรับรอง แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ไม่ใช่แค่ผลิตภัณฑ์เท่านั้นที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน แต่กระบวนการตรวจและรับรองมาตรฐานนั้นให้การรับรองมาตรฐานทั้งกับเกษตรกร พื้นที่ผลิต ระบบการบริหารจัดการฟาร์ม และระบบการจัดการผลผลิตด้วย
ทั้งนี้ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอินทรีย์ (ORGANIC QUACULTURE) นับว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับนครนายก ชาวบ้านทั่วไปอาจเข้าใจเพียงว่าการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอินทรีย์ คือ การที่ไม่ใช้ยาและสารเคมีในการผลิตสัตว์น้ำ แต่อาจมองข้ามส่วนประกอบในอาหารสำเร็จรูปที่มีกากถั่วเหลืองดัดแปรพันธุกรรม (GMOs) เป็นวัตถุดิบ ซึ่ง GMOs เป็นสิ่งที่ห้ามใช้เด็ดขาดในวงการเกษตรอินทรีย์ ดังนั้นหากใครสนใจที่จะเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบเกษตรอินทรีย์ จึงควรศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับหลักการและมาตรฐานการให้ครบถ้วนเสียก่อน โดยข้อกำหนดเกี่ยวกับมาตรฐานที่สำคัญของการเลี้ยงสัตว์น้ำแบบเกษตรอินทรีย์จะมีหลายข้อด้วยกัน เช่น การห้ามใช้ยาปฏิชีวนะ ปุ๋ยเคมี ฮอร์โมนสังเคราะห์ สิ่งดัดแปรพันธุกรรม (GMOs) ระบบจัดการผลิตแบบองค์รวม (holistic) การจดบันทึกข้อมูลเพื่อตรวจสอบย้อนกลับ ฯลฯ การเลี้ยงสัตว์น้ำ "อาหาร" นับได้ว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดปัจจัยหนึ่ง ยิ่งหากจะต้องเลี้ยงแบบเกษตรอินทรีย์ด้วยแล้วยิ่งต้องเพิ่มความใส่ใจให้มากยิ่งขึ้น
ด้วยความปรารถนาดี
#กรมประมง #สำนักงานประมงจังหวัดนครนายก #กลุ่มพัฒนาและส่งเสริมอาชีพการประมง #ประมงอำเภอปากพลี #เกษตร #อินทรีย์ #ชีวิตวิถีใหม่ #NewNormal #COVID19