ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดลพบุรี
ชื่อไทย |
กระโห้ กะมัน หัวมัน |
ชื่อสามัญ |
Siamese Giant Carp |
ชื่อวิทยาศาสตร์ |
Catlocarpio siamensis |
ถิ่นอาศัย |
เคยมีอยู่ชุกชุมในลุ่มแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงบึงบอระเพ็ด ในปัจจุบันมีปริมาณน้อยลงมาก แต่ก็ยังมีปรากฏให้พบเห็นอยู่บ้างในลำน้ำโขง ชาวบ้านแถบนั้นเรียกชื่อปลานี้ว่า ปลากะมัน หรือหัวมัน |
ลักษณะทั่วไป |
เป็นปลาน้ำจืดชนิดมีเกล็ดที่มีขนาดใหญ่สุดในโลกชนิดหนึ่ง ลำตัวค่อนข้างป้อมแบนข้าง ส่วนของลำตัวบริเวณถัดจากช่องเปิดเหงือกโค้งเป็นสันนูนขึ้นมา หัวโต ความยาวของหัวจะประมาณหนึ่งในสามของลำตัว ไม่มีหนวด ปากกว้าง ตาเล็ก ขอบฝาปิดเหงือกมนกลมและใหญ่กว่าปลาชนิดอื่น ๆ ครีบหลัง ครีบหางใหญ่ มีฟันในลำคอหนึ่งแถว เกล็ดกลมมนขอบเรียบ ขนาดของเกล็ดขึ้นอยู่กับขนาดของปลา เหงือกมีซี่กรองยาวและถี่มาก ตัวมีสีคล้ำอมน้ำเงิน หรือมีสีน้ำตาลเข้ม ครีบมีสีแดงเรื่อ ด้านท้องสีจาง ในเอกสารทางวิชาการรายงานว่าปลากระโห้ขนาดใหญ่ เกล็ดมีความยาวถึง 6.8 ซม . ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับฝ่ามือ |
การสืบพันธุ์ |
เพาะพันธุ์โดยการฉีดฮอร์โมน แล้วผสมเทียมแบบแห้ง ปลากระโห้จะมีระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเพาะพันธุ์สั้นมาก |
อาหารธรรมชาติ |
กินแพลงค์ตอนและพรรณไม้น้ำ |
การแพร่กระจาย |
|
สถานภาพ(ความสำคัญ) |
เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจ |
ชื่อไทย กราย ตองกราย ชื่อสามัญ Spotted Featherback ชื่อวิทยาศาสตร์ Chitala ornata, Haminton ถิ่นอาศัย ปลากรายเป็นปลาน้ำจืดที่พบมากในประเทศไทย อินโดนีเซีย อินเดีย มาเลเซียและพม่า ในประเทศไทยพบอาศัยในแม่น้ำลำคลอง หนองและบึงทั่วประเทศ ยกเว้นภาคใต้ โดยมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น ภาคเหนือเรียกว่าปลาหางแพน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกปลาตองกราย เป็นต้น
ลักษณะทั่วไป ปลากรายมีลักษณะลำตัวยาวบาง แบนข้าง ส่วนหัวมีขนาดเล็ก เว้าเป็นสันโค้งและแยกออกจากลำตัวเห็นชัดเจน เหนือครีบก้นจะมีจุดสีดำค่อนข้างใหญ่ ประมาณ 5 – 10 จุดเรียงเป็นแถว สีของลำตัวเป็นสีขาวเงิน ส่วนหลังมีสีคล้ำกว่าส่วนท้อง ขนาดของปลากราย ที่พบส่วนใหญ่ยาวประมาณ70–75 เซนติเมตร ส่วนลูกปลาที่มีขนาดไม่เกิน 9 เซนติเมตร จะมีลายสีเทาดำ ประมาณ 10–15 แถบ พาดขวางลำตัว เมื่ออายุประมาณ 80 วัน ลายจะเลือนหายไปและกลายเป็นจุดสีดำแทน เกล็ดมีขนาดเล็กละเอียด ครีบต่างๆ ทุกครีบเป็นก้านครีบอ่อนทั้งหมด ครีบท้องเล็กมาก ครีบก้นและครีบหางเชื่อมติดกันรวมเป็นครีบเดียวกัน มีก้านครีบประมาณ 110-135 อัน ครีบหลังเล็ก มีก้านครีบ 8-9 อัน ตั้งอยู่กึ่งกลางหลังลักษณะคล้ายขนนกเสียบอยู่ ครีบอก มีก้านครีบ 15-16 อัน ครีบท้อง มีก้านครีบ 6 อัน บริเวณสันท้องมีหนามคล้ายฟันเลื่อย 2 แถว จำนวนประมาณ 37-45 คู่ ลักษณะภายนอกของปลากรายเพศผู้และเพศเมียที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ได้แก่ ความยาวของครีบเอว โดยที่ปลาเพศผู้จะมีครีบเอวยาวกว่าปลาเพศเมีย
การสืบพันธุ์วางไข่ การเพาะพันธุ์ปลากรายสามารถทำได้โดยง่าย ไม่จำเป็นต้องฉีดฮอร์โมนกระตุ้นก็สามารถวางไข่ได้เองในบ่อดิน โดยไข่จะติดกับวัสดุที่อยู่ในน้ำ เช่น ตอไม้ กิ่งไม้ เสา หรือวัสดุอื่นๆฤดูวางไข่ของปลากรายอยู่ในช่วงเดือน มีนาคม – ตุลาคม ของทุกปี โดยรังไข่เพียงข้างเดียวของเพศเมีย(ที่มีอยู่สองข้าง)จะมีการพัฒนาเพื่อสร้างไข่ในหนึ่งฤดู รังไข่ทั้งสองข้างจะสลับกันสร้างไข่จากปีหนึ่งไปยังอีกปีหนึ่ง เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ปลาจะเริ่มจับคู่กันและปลาเพศผู้จะทำการขุดดินรอบ ๆ วัสดุที่จะทำการวางไข่ให้เป็นหลุม จากนั้นปลาเพศเมียจะวางไข่ ซึ่งจะติดกับวัสดุ เป็นต้นว่า ตอไม้ รากไม้ ท่อปูน ฯลฯ ปลาเพศผู้จะเป็นฝ่ายดูแลไข่โดยใช้หางโบกไปมาพัดเพื่อให้ออกซิเจนและป้องกันไม่ให้ตะกอนเกาะติดไข่ ไข่ปลากรายที่ได้รับการผสมจะมีสีเหลืองอ่อนใส มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.0 มิลลิเมตร และฟักออกเป็นตัวภายในเวลา 6 – 7 วัน ที่อุณหภูมิน้ำ 26-32 องศาเซลเซียส แม่ปลามีความสามารถวางไข่ได้เฉลี่ยปีละ 6.0 ครั้ง พบแม่ปลาวางไข่สูงสุดในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม จำนวนไข่เฉลี่ยครั้งละ 1,044 ฟอง อัตราการปฏิสนธิประมาณ 75% อัตราการฟักเป็นตัว 70% อัตราการรอดตาย 92% เหลือลูกปลาวัยอ่อนอายุ 5 วันเฉลี่ย 514 ตัว คิดเป็น 3,084 ตัว/แม่/ปี
นิสัยการกินอาหาร กินแมลงน้ำ ลูกกุ้ง ปลาผิวน้ำตัวเล็ก ๆ เช่น กระทุงเหว เสือ ซิว และสร้อย
สถานภาพ(ความสำคัญ) เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจ เนื้อมีรสอร่อยเหมาะสำหรับใช้ทำลูกชิ้นหรือทอดมัน ส่วนเชิงของปลากรายเมื่อนำมาทอดจะมีรสชาติอร่อยกว่าเนื้อปลาส่วนอื่น ๆ