กรมประมง อาศัยอำนาจตามความในข้อ 11 (3) และข้อ 20 ของกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ พ.ศ.2562 ออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตให้แก้ไขเครื่องมือทำการประมงในใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ พ.ศ. 2563 เพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์สามารถแก้ไขรายการเครื่องมือทำการประมงในใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในการประกอบอาชีพและให้สามารถปรับเปลี่ยนการใช้เครื่องมือทำการประมงได้เหมาะสมตามช่วงฤดูกาลของแต่ละพื้นที่ได้ โดยประกาศดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาคประมงและแรงงานในภาคประมง และคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติด้วยแล้ว โดย มีสาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ ดังนี้
1. ให้ผู้รับอนุญาตสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงชนิดเครื่องมือในใบอนุญาตฯ ได้ ประกอบด้วย
1.1 จากเครื่องมือประสิทธิภาพสูง เป็น เครื่องมือประสิทธิภาพสูงด้วยกัน แต่ มีประสิทธิภาพการจับสัตว์น้ำต่ำกว่า เช่น อวนลากคู่ ขอเปลี่ยนเป็น อวนลากแผ่นตะเฆ่ โดยกรณีนี้กรมประมงจะนำปริมาณสัตว์น้ำของเครื่องมืออวนลากคู่เดิมมาคำนวณจำนวนวันทำการประมงใหม่ตามประสิทธิภาพของเครื่องมือทำการประมงที่เปลี่ยนแปลงไป
1.2 จากเครื่องมือประสิทธิภาพสูง เป็น เครื่องมือประสิทธิภาพต่ำได้ เช่น อวนลากแผ่นตะเฆ่ ขอเปลี่ยนเป็น อวนติดตา อวนครอบหมึก ลอบปลา เบ็ดราว เป็นต้น
1.3 จากเครื่องมือกลุ่มประสิทธิภาพต่ำ เป็น เครื่องมือกลุ่มประสิทธิภาพต่ำด้วยกันได้ เช่น ครอบหมึก ขอเปลี่ยนเป็น ลอบปู ลอบปลา เบ็ดราว อวนติดตา เป็นต้น
2. ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงสามารถขอเพิ่มขนาดหรือจำนวนเครื่องมือทำการประมงที่ได้รับอนุญาตอยู่แล้วได้ แต่เมื่อรวมกับขนาดหรือจำนวนที่ได้รับอนุญาตเดิม ต้องไม่เกินมาตรฐานของเครื่องมือทำการประมงพาณิชย์ที่อนุญาตให้ใช้ทำประมงได้ เช่น เครื่องมืออวนลากคู่ ขอเพิ่มความยาวคร่าวล่างปากอวน โดยเมื่อรวมกับความยาวที่ได้รับอนุญาตอยู่แล้วได้ ไม่เกิน 100 เมตร หรือ เครื่องมืออวนลอบปู ของเรือขนาดไม่เกิน 30 ตันกรอส ขอเพิ่มจำนวนลอบปู โดยเมื่อรวมกับที่ได้รับอนุญาตเดิมได้ไม่เกิน 3,500 ลูก เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้ประสงค์จะขอแก้ไขเครื่องมือทำการประมงตามประกาศดังกล่าว สามารถยื่นคำขอได้ที่สำนักงานประมงอำเภอท้องที่ติดทะเลทุกแห่ง โดยการพิจารณาอนุญาตกรมประมงจะดำเนินการผ่านระบบการออกใบอนุญาตทำการประมงอิเล็กทรอนิกส์ (E-license) และสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประมงจังหวัด 22 จังหวัดชายทะเล
วันพฤหัสบดี ที่ 25 มิถุนายน 2563 เวลา 11.30 น. พลตำรวจโท จารุวัฒน์ ไวศยะ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) ประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจตรวจสอบและติดตามการบังคับใช้กฎหมายฯ เป็นประธานการประชุมหารือประเด็นปัญหาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินในท้องที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วย นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง โดยนายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี มอบหมายให้ นายธีระ อนันตเสรีวิทยา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้การต้อนรับ สืบเนื่องประเด็นปัญหาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินในท้องที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีการบุกรุกพื้นที่สาธารณะ อ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี สถานการณ์การบุกรุกพื้นที่สาธารณะโดยผิดกฎหมาย ซึ่งจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้ประกาศให้มีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและการบุกรุกพื้นที่สาธารณะ ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2563 โดยมอบแนวทางการปฏิบัติงานและการบังคับใช้กฎหมายและสร้างความเข้าใจแก่ทุกฝ่ายในการนี้ นายมีศักดิ์ ภักดีคงอธิบดีกรมประมง ได้เน้นย้ำแนวทางการปฏิบัติงานของหน่วยงานแบบบูรณาการภายใต้คำสั่งคณะทำงานฯ ของผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และให้การสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะทำงานบูรณาการฯ อย่างต่อเนื่อง โดยมีหัวหน้าส่วนหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
(ร่าง) ระเบียบกรมประมง เรื่อง การขอหนังสือรับรองการจับ การแปรรูป สินค้าประมงพื้นบ้านยั่งยืน พ.ศ. .... และ (ร่าง) มาตรฐานการจับ การแปรรูป สินค้าประมงทะเลพื้นบ้านยั่งยืน(ร่าง) ระเบียบกรมประมง เรื่อง การขอหนังสือรับรองการจับ การแปรรูป สินค้าประมงพื้นบ้านยั่งยืน พ.ศ. .... และ (ร่าง) มาตรฐานการจับ การแปรรูป สินค้าประมงทะเลพื้นบ้านยั่งยืน