เผยเเพร่: 2017-08-08 | อ่าน: 998 ครั้ง
ตามที่กรมประมงได้ประชุมหารือแนวทางการแพร่กระจายของปลาหมอสีคางดำในพื้นที่สมุทรสงครามและเพชรบุรี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 กรกฎาคม 2560 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 6 อาคารจุฬาภรณ์ กรมประมง นั้น
ในการนี้ เพื่อให้การดำเนินการโครงการเป็นไปในทิศทางเดียวกันกองตรวจราชการจึงแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังนี้
1. สำนักงานประมงจังหวัดทุกจังหวัดและสำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร ดำเนินการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนักให้กับสังคมเข้าใจถึงผลกระทบในการปล่อยสัตว์น้ำต่างถิ่นลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ และขอความร่วมมือกับประชาชนให้มีส่วนร่วมในการติดตามและเฝ้าระวังการแพร่กระจายของสัตว์น้ำต่างถิ่นในพื้นที่ ทั้งนี้/หากประชาชนท่านใดไม่ประสงค์จะเลี้ยงสัตว์น้ำดังกล่าวให้นำสัตว์น้ำมาส่งมอบให้แก่สำนักงานประมงจังหวัดในพื้นที่ พร้อมกรอกแบบรายละเอียดลงในแบบฟอร์ม
2. เมื่อสำนักงานประมงจังหวัดได้รับมอบพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่นจากเกษตรกรแล้วให้นำส่งศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง / สัตว์น้ำจืด / ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด/ศูนย์วิจัยและพัฒนาทะเลในพื้นที่ดำเนินการเก็บรักษาพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อดำเนินการ
3. กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายั่ง กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด กองวิจัยและพัฒนาประมงทะเล กองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ กองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดให้ความร่วมมือกับประมงจังหวัดในการเก็บรักษาพันธุ์สัตว์น้ำในจังหวัดด้วย
ตามที่กรมประมงมีนโยบายขอความร่วมมือจากประชาชน อย่านำสัตว์น้ำต่างถิ่นที่ไม่ต้องการเลี้ยงปล่อยลงในแหล่งน้ำสาธารณะ และขอให้นำมามอบให้กับสำนักงานประมงจังหวัด นั้น
เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กรมประมงให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งในพื้นที่ รับมอบสัตว์น้ำต่างถิ่นจากสำนักงานประมงจังหวัดในแต่ละพื้นที่มาเลี้ยงไว้โดยให้หน่วยงานพิจารณาดังนี้
1. สามารถเลี้ยงไว้ได้ และปลอดภัยไม่หลุดรอดไปยังแหล่งน้ำสาธารณะ
2. สามารถเลี้ยงไว้ได้และเป็นประโยชน์ในกรณีที่เก็บไว้ในสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำให้ประชาชนได้เรียนรู้
3. ไม่สามารถเลี้ยงไว้ได้ให้ทำลายทิ้ง