ลงพื้นที่ตรวจสอบการตายของปลานิลในกระชัง พื้นที่ หมู่ที่ 6 คลองเล และ หมู่ที่ 10 ตำบลดุสิต อำเภอถ้ำพรรณรา จังหวัดนครศรีธรรมราช

 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดนครศรีธรรมราช


ลงพื้นที่ตรวจสอบการตายของปลานิลในกระชัง พื้นที่ หมู่ที่ 6 คลองเล และ หมู่ที่ 10 ตำบลดุสิต อำเภอถ้ำพรรณรา จังหวัดนครศรีธรรมราช 


ส่ง email แชร์ X ส่ง Line แชร์ Facebook
ฟังเสียงบรรยาย
ฟังเสียงบรรยาย

ลงพื้นที่ตรวจสอบการตายของปลานิลในกระชัง พื้นที่ หมู่ที่ 6 คลองเล และ หมู่ที่ 10 ตำบลดุสิต อำเภอถ้ำพรรณรา จังหวัดนครศรีธรรมราช..คลิก

วันที่ 3 กรกฎาคม 2567 นางสาวนิภา กาลศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดนครศรีธรรมราช ได้มอบหมายให้คณะเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ ตำบลดุสิต อำเภอถ้ำพรรณรา ร่วมกับประมงอำเภอถ้ำพรรณา นายพิทยา กุลเพชรกำธร เพื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำและหาสาเหตุการตายของปลานิลที่เลี้ยงในกระชังในพื้นที่ โดยเจ้าหน้าที่ได้ตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำ ทั้งในกระชัง และนอกกระชัง (แม่น้ำตาปี) และตรวจสุขภาพของปลานิล เพื่อหาสาเหตุการตายของปลา ผลการตรวจพบว่า

1. น้ำในแม่น้ำตาปี ที่ใช้ในการเลี้ยงปลานิลในกระชังค่อนข้างน้อย ความลึกน้ำประมาณ 2-3 เมตร ส่งผลให้ท้องกระชังติดกับพื้นท้องน้ำ สภาพน้ำในกระชังจึงมีความขุ่นมากกว่านอกกระชัง เนื่องจากปลาว่ายกวนตะกอนขึ้นมา

ข้อแนะนำ : ด้วยประสบการณ์ของเกษตรกรในการเลี้ยงปลานิลมาหลายปี ทำให้ทราบวัฏจักรของสภาพน้ำในแม่น้ำตาปีในแต่ละช่วงฤดูเป็นอย่างดี ในช่วงฤดูแล้งเริ่มเข้าเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ระดับน้ำลดต่ำลงอย่างมาก ต้องมีมาตรการรับมือ โดยผูกกระชังให้พื้นท้องกระชังลอยเหนือพื้นท้องน้ำ เพื่อลดความเสี่ยงที่ตัวปลาจะนำตะกอนดิน เศษอาหารเหลือ และของเสียบริเวณพื้นท้องน้ำฟุ้งกระจายขึ้นมาในกระชัง โดยทำการพับเก็บเนื้ออวนกระชังด้านบนขอบกระชัง เพื่อให้ความลึกของกระชังสัมพันธ์กับระดับน้ำ

2. คุณภาพน้ำในแม่น้ำตาปี ลักษณะสีน้ำ เหลือง มีตะกอนดินทราย พบระดับออกซิเจนที่ละลายในน้ำค่อนข้างต่ำเพียง 2-3 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งช่วงเวลาในการเก็บน้ำตัวอย่าง เวลา 10.30-12.00 น. เป็นช่วงที่มีแสงแดด มีกระบวนการสังเคราะห์แสงของแพลงก์ตอนพืช และพืชน้ำในแม่น้ำ แต่เนื่องด้วยตะกอนดินในน้ำค่อนข้างมาก ส่งผลให้ปริมาณออกซิเจนที่ละล่ายในน้ำน้อย

ข้อแนะนำ :

1. ลดความหนาแน่นของปลาในกระชัง เพื่อให้ปลามีพื้นที่

2. เพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำ โดยใช้ปั้มลมเพิ่มอากาศให้แก่ปลา

3. ห้อยกระสอบเกลือดำ เพื่อช่วยปรับสภาพน้ำ คลายความเครียดให้กับปลา โดยห้อย 1-2 จุดต่อกระชัง

ทำการตรวจสุขภาพของปลานิลทั้ง 2 จุด

3. อาการป่วยของปลานิล

จุดที่ 1 : ปลานิล ขี้ขาว ขี้ลอยบริเวณขอบกระชัง พบปลานิลว่ายน้ำเชื่องช้า ลักษณะอาการภายนอก มีอาการตกเลือด ตาโปน เหงือกกร่อน มีตะกอนเกาะอยู่ที่เหงือก และพบปลาตาย 3 - 5 ตัว

จุดที่ 2 :ปลานิลดำ และปลานิลแดงมี ขี้ขาว ขี้ลอยบริเวณขอบกระชัง พบปลานิลว่ายน้ำเชื่องช้า ลักษณะอาการภายนอก มีอาการตกเลือด และพบปลาตาย 10 - 20 ตัว

ข้อแนะนำ :เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาควรเร่งดำเนินการ

1. กำจัดปลาตาย ปลาที่มีอาการของโรค ที่ว่ายน้ำเชื่องช้า และลอยตาย โดยการตักออกจากแม่น้ำ นำมาฝังบนพื้นดินหรือเผา หากฝังในพื้นดิน ทำการขุดหลุมลึกจากพื้นดินอย่างน้อย 50 เซนติเมตร โรยปูนขาวที่ก้นหลุม และนำปลาตายใส่ลงไปในหลุม โรยปูนขาวทับซ้ำอีกหนึ่งครั้ง ก่อนกลบทับด้วยดิน และนำล้อยางรถยนต์ หรือแผ่นกระเบื้องเก่า มาปิดทับไว้ ป้องกันน้องสุนัขคุ้ยเขี่ย

2. เบื้องต้น ลดความเครียดของปลา โดยห้อยกระสอบเกลือดำ โดยห้อย 1-2 จุดต่อกระชัง ปลาตัวใดที่ป่วย เครียด จะว่ายเข้ามาตรงจุดที่มีเกลือละลาย

3. การรักษาปลาโดยใช้ยาปฏิชีวนะ ต้องรักษาโดยมีสัตวแพทย์เป็นผู้กำกับการสั่งยา และการใช้ยาปฏิชีวนะ ต้องเลือกใช้ยาที่มีการขึ้นทะเบียนถูกต้อง และอัตราการใช้ยาในการผสมอาหารตามข้างฉลากที่แนะนำย่างเคร่งครัด และต้องมีระยะเวลาในการหยุดยาก่อนการจำหน่ายสัตว์น้ำ (การจับ) อย่างน้อย 21 วัน เพื่อป้องกันโรคเชื้อดื้อยาในผู้บริโภคปลา

4. เน้นย้ำ การจัดการทางด้านอาหาร ควรเลือกอาหารที่มีคุณภาพ สารอาหารครบสมบูรณ์

4. การจัดการทางด้านอาหาร

จุดที่ 1 : พบอาหารสำเร็จรูปมีทะเบียน แต่ไม่ระบุวันที่ผลิต และวันที่หมดอายุ จัดเก็บอาหารในขนำกลางน้ำ มีหลังคาปิดเรียบร้อย พบอาหารลอยอยู่ในบ่อจำนวนมาก 1-2 บ่อ เกษตรกรแจ้งว่าให้อาหารมาก ให้อาหารลอยบริเวณผิวน้ำมาก เพื่อให้ปลาได้กินตลอด เป็นการเพิ่มน้ำหนักปลา

จุดที่ 2 : พบอาหารสำเร็จรูป 2 บริษัท บริษัทแรกมีทะเบียน แต่ไม่ระบุวันที่ผลิต และวันที่หมดอายุ ส่วนบริษัทที่ 2 อาหารหมดอายุเมื่อเดือนมิถุนายน 2567 มีการจัดเก็บอาหารในขนำกลางน้ำ และบางส่วนนำไปใส่ในถังมีฝาปิด วางไว้กลางแดด และมีหนึ่งกระสอบวางอยู่ขอบกระชัง

ข้อแนะนำ : เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาควรเร่งดำเนินการ

1. จัดเก็บอาหารในที่ร่ม ไม่อับชื้น และไม่ควรวางตั้งตากแดดจัดนานๆ เนื่องด้วยวิตามิน แร่ธาตุ คุณภาพของอาหารจะเสื่อมลง ส่งผลต่อระบบลำไส้ และสุขภาพของตัวปลา

2. การให้อาหาร ผู้ให้อาหารควรให้ทีละน้อย แต่บ่อยครั้ง โดยการให้ต้องยืนเฝ้าดูให้ปลากินอาหารหมดภายใน 20 นาที อาหารเหลือ ควรตักออก และกรณีฟ้ามืด ฟ้าครึ้ม ฝนตกหนัก ควรงดอาหาร

3. ช่วงฤดูมรสุม ฝนตกติดต่อกันหลายวัน ควรลดปริมาณอาหาร ให้ปลากินพออิ่ม และควรเสริมวิตามิน ได้แก่ วิตามินซี และโพรไบโอติกส์ชนิดดี เช่น น้ำมักจุลินทรีย์ ปม.1 ผสมอาหารให้ปลา เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ปลาแข็งแรงขึ้น

5. การจัดการกระชัง

จุดที่ 1 : กระชังเนื้ออวน ตาอวนขนาด ประมาณ 4 เซนติเมตร ลึก 2.5 เมตร มีผลให้พื้นท้องกระชังราบติดกับพื้นท้องน้ำ และด้านบนในกระชัง ทับอีกชั้นด้วยอวนมุ้งฟ้า เพื่อป้องกันอาหารลอยหลุดออกนอกกระชัง ลึก จากปากกระชัง 80 เซนติเมตร มีคราบตระใคร่ ตะกอน อุดตันติดเป็นจำนวนมาก และพบวัชพืช หญ้า ขึ้นบริเวณทุ่นลอยจำนวนมาก

จุดที่ 2 : กระชังเนื้ออวน ตาอวนขนาด ประมาณ 3-4 เซนติเมตร และด้านบนในกระชัง ทับอีกชั้นด้วยอวนมุ้งฟ้า เพื่อป้องกันอาหารลอยหลุดออกนอกกระชัง ลึก จากปากกระชัง 1 เมตร มีคราบตระใคร่ ตะกอน อุดตันติดเป็นจำนวนมาก และพบวัชพืช หญ้า ขึ้นบริเวณทุ่นลอยจำนวนมาก

ข้อแนะนำ : เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาควรเร่งดำเนินการ

1. ทำความสะอาดเนื้ออวนมุ้งฟ้า และกระชังให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อลดการอุดตันของของเสียภายในกระชัง และเพื่อให้น้ำสามารถผ่านเข้าออกในกระชังได้ดี

2. กำจัดวัชพืชน้ำ เพื่อลดการใช้ออกซิเจนในช่วงเวลากลางคืน

6. การจัดการด้านอื่นๆ

ข้อแนะนำ : 1. หมั่นตรวจสอบดูสุขภาพปลาในกระชังที่เลี้ยงอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลา เช้ามืด และช่วงกลางคืน เนื่องด้วยคุณภาพน้ำในแม่น้ำ เป็นปัจจัยภายนอกที่ควบคุมได้ยาก ดั้งนั้น จึงต้องเน้นการบริหารจัดการทางด้านการเลี้ยง ความสม่ำเสมอในการตรวจดูคุณภาพน้ำ การสังเกตสีน้ำ ความขุ่นใสของน้ำ และเน้นการจัดการทางด้านอาหาร คัดเลือกอาหารปลาที่มีคุณภาพ จัดเก็บที่เหมาะสม และให้อาหารปลาทีละน้อย แต่บ่อยครั้ง รวมถึงการการจัดการความสะอาดของกระชัง

2. การเลี้ยงปลาในกระชังเชิงพาณิชย์ ควรมีชุดวิเคราะห์คุณภาพน้ำแบบพกพา เพื่อตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำเบื้องต้น เช่น ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำ, pH และแอมโมเนียที่ละลายในน้ำ เพื่อให้สามารถตรวจคุณภาพน้ำได้ทันที และจักได้วางแผนการจัดการแก้ไขได้อย่างทันที

ทั้งนี้ ได้ชี้แจงทำความเข้าใจให้แก่เกษตรกรในการป้องกันการเกิดโรค และป้องกันการตายของปลา

 

 Tags



สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ.2568 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดนครศรีธรรมราช

รายละเอียด ตู้ ปณ.8 ตำบลกุแหระ อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช 80240  email  nakhonsri_fish@yahoo.com  โทรศัพท์ 075-845-183  FAX 075-845-183  แฟนเพจ แฟนเพจ
CreativeCommons Valid CSS! Explanation of WCAG 2.1 Level Triple-AA Conformance SSL Labs ipv6